หน้าแรก เฌอปราง BNK48 กับ อาจารย์เจษฯ ร่วมบรรยายพิเศษ “เส้นทางนักวิทย์ ชีวิตไอดอล” ในงานแสดงความยินดี และปฐมนิเทศนักเรียนทุน JSTP รุ่นที่ 20 สวทช.
เฌอปราง BNK48 กับ อาจารย์เจษฯ ร่วมบรรยายพิเศษ “เส้นทางนักวิทย์ ชีวิตไอดอล” ในงานแสดงความยินดี และปฐมนิเทศนักเรียนทุน JSTP รุ่นที่ 20 สวทช.
25 ก.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแสดงความยินดี และปฐมนิเทศนักเรียนทุนระยะยาว จำนวน 20 ทุน รวมถึงจัดกิจกรรม “ชุมนุมสมาชิกโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ประจำปี 2561” ระหว่างวันที่ 22-25 กรกฎาคม 2561 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และเดอะเกรซอัมพวา จ.สมุทรสงคราม

เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชน รวมถึงจัดกิจกรรมบ่มเพาะเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจัดกิจกรรมชุมนุมสมาชิก JSTP ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้เยาวชนในโครงการฯ ได้มีโอกาสพบปะรุ่นพี่ รุ่นน้อง อีกทั้งโครงการฯ ได้เชิญผู้ปกครองของเยาวชนมาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายในการดูแลเยาวชน และสร้างรากฐานกำลังคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี/ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ปีนี้เป็น JSTP รุ่นที่ 20 แล้ว เป็นปีที่กำลังจะกำลังบรรลุนิติภาวะ 20 ปีซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนาน โครงการนี้เดิมทีเดียวเรามีความฝันอันสูงสุดเรียกว่า โครงการโนเบล 2020 ที่จริงแล้วเราทำงานเราไม่ได้ต้องการรางวัลโนเบลอะไร เราทำงานเราต้องการผลงานที่เป็นความรู้ที่เราได้มาแล้วก็ให้มนุษย์โลก ให้คนในโลกได้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญ ความคิดริเริ่มที่จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า เราต้องการให้มีลักษณะที่พิเศษ อย่างแรกก็คือ ให้น้องๆ ได้รู้จักว่า งานวิทยาศาสตร์ งานเทคโนโลยีที่แท้จริงที่มีการวิจัย เขาทำกันอย่างไร พวกน้องๆ จะมีโอกาสได้ไปร่วมด้วยก็เป็นการชิมลาง บางคนก็อยู่ในห้องแลป บางคนทำการทดลองในภาคสนาม อย่างที่สองก็คือ นอกจากอาจารย์ที่มาช่วยดูเราแล้ว ให้น้องๆ ได้มีเพื่อนฝูง เรียกว่าเป็น network  สมัยนี้เป็นสมัยที่เราจะต้องมี network มีเครือข่าย เครือข่ายสังคม เช่น Line หรือว่า Facebook สิ่งเหล่านั้นเป็นเครือข่ายทางด้านสังคม แต่ของเราเป็นเครือข่ายพิเศษ เครือข่ายของคนที่มีความสนใจร่วมกัน มาช่วยกันตั้งแต่เด็กๆ แล้วเครือข่ายนี้ก็ดีคือเรามีทั้งรุ่นเรา รุ่นพี่ ต่อไปเราก็จะมีรุ่นน้อง เราไปกันเป็นกลุ่มเลยเหมือนฝูงผึ้ง สามารถทำอะไรได้มากมายจริง ๆ นี่เรียกได้ว่าเป็นปรัชญาของ JSTP เราพอมองเห็นนะครับว่าตอนนี้มันอาจจะเหมือนกับเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ว่าต่อไปแล้วจะเป็นเรื่องจริง เพราะว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ถ้าทำให้ดีก็จะเป็นประโยชน์”

นางอติพร สุวรรณ หัวหน้างานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ เล่าว่า “โครงการ JSTP เราอยู่กันเป็นครอบครัว มีปัญหาอะไรปรึกษากันได้ เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาและส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษให้เข้าสู่การเป็นนักวิจัย โดยเรามีการส่งเสริมทุนการศึกษาในการทำวิจัย มีให้ปรึกษากับนักวิจัยพี่เลี้ยง มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำ หรือต้องการฝึกทักษะวิจัยที่ สวทช. เราก็ยินดีประสานงานให้ และเรามีการประเมินศักยภาพทุกปี”

ในช่วงเช้ามีบรรยายพิเศษ “เส้นทางนักวิทย์ ชีวิตไอดอล” โดย นางสาวเฌอปราง อารีย์กุล วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ในการจัดสรรเวลาในการทำงานและเรียนไปด้วยกัน เฌอปราง กล่าวว่า “เฌอเริ่มจัดสรรค์เวลาตั้งแต่มัธยม นำการวางแผนโครงงานมาประยุกต์กับชีวิตโดยการจดตารางเวลาทำงานลงในสมุด พอขึ้นมหาวิทยาลัยจึงเริ่มการวางแผนล่วงหน้าต่อปี หลังเข้าวงการบันเทิงเป็นสมาชิก BNK48 ก็จะดูตารางเรียน เวลาว่างเช้าบ่ายแล้วไปแมตซ์กับทางบริษัทในแต่ละวัน จะมีบางงานที่เลี่ยงไม่ได้ จะต้องลาเรียน เฌอจะวางแผนลาเรียน และก็ขอจดหมายกับทางบริษัทมาลากับทางมหาวิทยาลัย ตอนนี้เฌอวางแผนเป็นเดือนถึงสองเดือน แต่บางวันก็ไม่เป็นไปตามที่วางแผน งานมากระชั้นชิด เปลี่ยนได้ทุกวัน ดังนั้นการวางแผนทำให้เรารู้ว่าช่วงไหนที่ควรทำงาน ทำการบ้านให้เสร็จ อันนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เฌอจัดการทำหน้าที่ไอดอลกับการเรียนได้ และแนะนำให้จดบันทึกลงในสมุด หรือจดลงปฏิทิน ตอนนี้เฌอใช้สมาร์ทโฟนในการช่วยจดบันทึก”

สำหรับผลงานน้องๆ โครงการ JSTP ที่นำมาจัดแสดงภายในงาน อาทิ
การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดช่องปากโดยมีสารสกัดจากเมล็ดหมากเป็นส่วนประกอบ โดยนักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ใช้สารสกัดจากเมล็ดหมากเข้ามาเป็นสารออกฤทธิ์แทนที่ใช้กันทั่วๆ ไปถ้าสังเกตดูจากเมื่อก่อน ผู้สูงอายุจะเคี้ยวหมาก เวลาแก่ตัวลงฟันของผู้สูงอายุหรือสุขภาพช่องปากยังแข็งแรง เราเลยได้แนวคิดที่ว่า ทำไมไม่ลองนำสารสกัดจากเมล็ดหมากที่เขาเคี้ยวมาศึกษาดู เพื่อที่จะได้รับการยอมรับมากขึ้น

การศึกษาสมบัติเชิงกลของโพลิเมอร์คอมโพสิทจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อพัฒนาฟิลาเมนต์สำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง เป็นการผลิต 3D printer filament (ตัววัสดุที่ใช้ในการทำตัวชิ้นงาน 3 มิติ) ชนิดใหม่ขึ้นมา เป็นการรวมตัวระหว่างพลาสติกชนิด PLA (Polylactic-acid) กับยางพารา ทำให้ตัวพลาสติกมีความยืดหยุ่นขึ้น และสร้างเครื่อง Mini Extruder เพื่อที่จะสามารถผลิตตัว 3D printer filament ที่บ้านหรือห้องแลปได้เลยในขนาดเล็กๆ สามารถเลือกได้ว่าจะใช้วัสดุแบบไหน สีอะไร ส่วนผสมเท่าไหร่
การพัฒนากรดแลคติกจากการหมักน้ำปลาส้มเพื่อใช้ในการจับตัวของน้ำยางพารา โดย โรงเรียน สหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ. นครพนม ปกติการทำให้น้ำยางพารากลายเป็นก้อนจะต้องใช้กรดฟอร์มิก แต่กรดฟอร์มิกมีกลิ่นฉุน และเป็นอันตราย ดังนั้นจึงทดลองใช้กรดแลคติกที่สกัดจากน้ำหมักปลาส้มที่เหลือทิ้ง มาใช้ในการทำให้น้ำยางพารากลายเป็นก้อน ผลปรากฏว่า ในระยะเวลาเท่ากัน กรดแลคติกจะจับตัวช้ากว่ากรดฟอร์มิก แต่เป็นการจับตัวกันของน้ำยาที่สมบูรณ์ ก็คือน้ำหนักของยางพาราจะหนักมากกว่า ส่วนค่าความชื้น  และค่าสี มีค่าที่ดีกว่ากรดฟอร์มิก และไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร

25 ก.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: