หน้าแรก เปิดตัวผู้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น-รุ่นใหม่ ปี 2561 พร้อมเสวนาบทบาทนักวิทย์กับการขับเคลื่อน EECi
เปิดตัวผู้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น-รุ่นใหม่ ปี 2561 พร้อมเสวนาบทบาทนักวิทย์กับการขับเคลื่อน EECi
2 ส.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

2 ส.ค. 2561 กรุงเทพฯ – มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2561 โดยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2561 จากการเป็นผู้ริเริ่มการนำขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอนมาใช้เป็นรายแรกของไทย

ซึ่งขั้วไฟฟ้านี้ใช้เป็นเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดสารประกอบอินทรีย์และสารประกอบอนินทรีย์ ประยุกต์ใช้ในด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร และการแพทย์ได้ ลดนำเข้าอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์จากต่างประเทศ และส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดเพื่อใช้งานเองในประเทศ ขณะที่รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 ได้แก่ ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จากผลงานวิจัย “ตัวเร่งปฏิกิริยานาโน สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” และ ผศ.ดร.เจ้าทรัพย์ บุญมาก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงานวิจัย “ผลึกวิทยาของวัสดุโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์และสารเชิงซ้อนชนิดใหม่”

 

โอกาสนี้ มีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ไทยกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ดร.พงษ์สุดา ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี SCG Packaging และนางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา ว่า ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะส่งเสริมให้มีการ reform หรือปฏิรูป ระบบการวิจัยของประเทศ อย่างน้อยที่สุดใน 3 เรื่อง ได้แก่ ยุทธศาสตร์ของการวิจัย กฎระเบียบหรือกฎหมายที่เอื้อต่อการวิจัย และงบประมาณสำหรับการวิจัยของประเทศ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวต้องมีการ reform ไปพร้อมๆ กับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ในพื้นที่ของ EECi

2 ส.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: