หน้าแรก วท. ผนึก ศธ. จัดประชุมนานาชาติพัฒนาเด็กความสามารถพิเศษ 20 – 24 ส.ค. นี้ ระดมกูรูทั่วโลก “สร้างคน” ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
วท. ผนึก ศธ. จัดประชุมนานาชาติพัฒนาเด็กความสามารถพิเศษ 20 – 24 ส.ค. นี้ ระดมกูรูทั่วโลก “สร้างคน” ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
9 ส.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(9 สิงหาคม 2561) ที่ห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) แถลงข่าวการจัดงาน “การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 (The 15th Asia-Pacific Conference on Giftedness 2018: APCG2018)”

ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ เผยแพร่องค์ความรู้พัฒนาเครือข่ายการทำงานระดับนานาชาติด้านการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ตลอดจนเพิ่มพูนศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพตนเองถูกหลักและเต็มความสามารถ โดยมี รศ.นพ.สรนิต  ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าว โดยงานประชุม APCG2018 ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ 20 – 24 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ซึ่งจะมีนักวิชาการ และเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี กีฬา และศิลปะ ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย จากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 800 คน

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญในด้านการพัฒนากำลังคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เป็นกลุ่มเด็กที่มีความสามารถทางสติปัญญาสูงกว่าเด็กทั่วไป   มีความเป็นเลิศและทักษะเชิงพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่น สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินการโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยมีหลักสูตร ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อรองรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

 

นอกจากนี้มีมหาวิทยาลัยโดยคณะหรือภาควิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพและความโดดเด่นทางวิชาการ เป็นผู้สนับสนุนและดูแลการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขึ้นในโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย หรือโรงเรียนในกำกับของมหาวิทยาลัย โดยขณะนี้มีห้องเรียนโครงการ วมว. จำนวน 24 ห้อง 18 คู่โรงเรียน-มหาวิทยาลัย มีนักเรียนที่อยู่ในความดูแลจำนวน 2,323 คน และในเดือนสิงหาคมนี้กำลังเปิดรับสมัครนักเรียนอีก 900 คน โดยเพิ่มห้องเรียนเป็น 30 ห้องเรียน ใน 19 คู่โรงเรียน-มหาวิทยาลัย และเป็นโรงเรียนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้าน “พัฒนาคน” เพื่อให้มีทักษะความสามารถสูงขึ้น รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตสินค้า บริการ หรือสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ บนฐานนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง หากเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง พวกเขาจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 หรือ APCG 2018 ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างเข้มแข็ง ซึ่งไฮไลท์ของงาน APCG 2018 มีกิจกรรมสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ การประชุมวิชาการ จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และค่ายเยาวชนนานาชาติ จัดที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี มีวิทยากรด้านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ชั้นแนวหน้าของโลกและจากประเทศไทย จำนวน 19 ท่าน จาก 9 ประเทศ ซึ่งจะมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการและกิจกรรมค่ายเยาวชน อาทิ Prof. C. June Maker จาก Department of Disability and Psychoeducational Studies, University of Arizona ที่จะมานำเสนอแนวคิดด้านจิตวิทยาการศึกษาด้านอัจฉริยภาพ

 

ได้แก่ ทฤษฎี Prism ซึ่งเปรียบเทียบการตกกระทบของแสงบนแท่งแก้ว Prism ทำให้เกิดแสงสะท้อนหลากหลายสี เหมือนกับความสนใจที่แตกต่างกันของแต่ละคน โดยการบ่มเพาะศักยภาพเหล่านี้ต้องอาศัยการดูแลทั้งจิตใจและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะมีการประเมินเพื่อบ่งชี้อัจฉริยภาพในแต่ละด้าน ที่สามารถนำไปใช้ได้กับนักเรียนทุกกลุ่มด้วย Prof. Jin Akiyama จาก Tokyo University of Science นักคณิตศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุน จะมาบรรยายและยกตัวอย่างให้เห็นแนวทางการบ่มเพาะเด็กอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ที่มีไอคิว (IQ) สูง ให้เป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งร่วมจัดค่ายบูรณาการศาสตร์ทั้งคณิตศาสตร์ ศิลปะ และดนตรี สำหรับเยาวชนเพื่อจุดประกายให้เยาวชนได้สนุกกับคณิตศาสตร์รอบตัวจากสื่อการเรียนการสอน นอกจากนั้นแล้วยังมีวิทยากรด้านการพัฒนาการศึกษาจากประเทศไทย คือ นายมีชัย   วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือ Mechai Bamboo School จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันโรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นต้นแบบที่ได้รับการขยายผลไปถึง 100 โรงเรียน โดยมุ่งหวังสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับ สวทช. ให้ความสำคัญและมีบทบาทในการพัฒนาเด็กผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project: JSTP) หรือโครงการเจเอสทีพี ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งโครงการ JSTP มีเป้าหมายในการค้นหาและคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และปริญญาตรี เพื่อเข้ามารับการส่งเสริมและพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลาย ปัจจุบันมีเยาวชนไทยผู้ได้รับการสนับสนุนในระยะยาว โดยได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาและทุนสนับสนุนการวิจัยจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศ รวมทั้งสิ้น 317 คน โดยปีนี้ สวทช. ได้ถอดบทเรียนของเยาวชนในโครงการ JSTP จัดทำเป็นหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” เพื่อเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นหลังต่อไปด้วย

ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. เป็นหน่วยงานมีภารกิจหลักในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนตั้งแต่อนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันจำแนกได้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ดนตรี ศิลปะ และด้านกีฬามีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนส่งเสริมศักยภาพแก่นักเรียนกลุ่มนี้ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย 12 โรงเรียน ทั่วประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมมีนักเรียนที่อยู่ใน    ความดูแลประมาณกว่า 8,000 คน นอกจากนี้ยังมีโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment : SMTE) จำนวน 220 โรงเรียนทั่วประเทศ   มีนักเรียนในโครงการกว่า 20,000 คน โรงเรียนเหล่านี้จะจัดรายวิชาเพิ่มเติมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานคณิตศาสตร์และโครงงาน ด้านเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างวิญญาณความเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และมุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานสากล

ด้าน ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมทั้งแผนจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษมาอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 40 ฉบับ เช่น การพัฒนามาตรฐานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ แผนจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ รวมทั้งรายงานการวิจัยเรื่องการขับดันระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ด้วยกำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งการจัดประชุม APCG2018 ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่สภาการศึกษาและหน่วยงานทั้งหมด จะได้รับทราบข้อมูลจากการบรรยาย โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Gifted Education จาก 9 ประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมการประชุมจาก 27 ประเทศ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะได้นำมาวิเคราะห์ในบริบทของประเทศไทย เพื่อการจัดทำนโยบายและผลักดันการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษแบบบูรณาการเพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 ต่อไป

9 ส.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: