หน้าแรก ก.วิทย์ฯ เดินหน้าสร้างคน นำโครงการ Fab Lab พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชน จ.สุราษฎร์ธานี หนุนไทยแลนด์ 4.0
ก.วิทย์ฯ เดินหน้าสร้างคน นำโครงการ Fab Lab พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชน จ.สุราษฎร์ธานี หนุนไทยแลนด์ 4.0
22 ส.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(20 สิงหาคม 2561) ณ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี – ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน “โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) และโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์” ที่ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)

เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ซึ่งโครงการฯ ส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้ โดยมี ผศ.ดร.ประภาศ เมืองจันทร์บุรี รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในฐานะผู้จัดการโครงการ FabLab ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายศุกเกษม อ่อนพูล นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ (AYS) ร่วมให้การต้อนรับ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคมอย่างกว้างขวาง (Big Rock Project) นั้น กระทรวงวิทย์ฯ มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการและรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยโครงการฯ ส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้ “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)” ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ และพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงาน โดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจ และสนใจที่จะมีอาชีพเป็นวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต

 

โดย สวทช. ได้เชิญชวนโรงเรียน/สถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน หรือมีผลงาน/โครงงานที่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมโครงการ เพื่อคัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งได้ร่วมมือกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คัดเลือกจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งจัดไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 2 แห่ง ส่วนโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่จะจัดให้มีในโรงเรียน และวิทยาลัยอาชีวศึกษา จะพิจารณาคัดเลือกอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่เหมาะสมกับพื้นที่และความพร้อมของโรงเรียน อาทิ เครื่องมือทางวิศวกรรมพื้นฐาน เครื่องพิมพ์ 3 มิติ บอร์ดสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้โปรแกรมมิ่ง (Coding/Programming) เช่น Arduino  Raspberry Pi เป็นต้น

 

ทั้งนี้ จะพิจารณารูปแบบ (model / specification ) และจำนวนของครุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความพร้อมของแต่ละโรงเรียน และวิทยาลัย ให้ได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญทำให้เด็กไทย “กล้าคิด กล้าลงมือทำ” เพื่อเพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ให้เข้าสู่อาชีพวิศวกรและนวัตกร อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศสู่ “Makers Nation” กุญแจสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมและผลักดัน “ประเทศไทย 4.0” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง

22 ส.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: