หน้าแรก เนคเทค-สวทช. ประกาศความสำเร็จทีมนักศึกษาของประเทศไทย (Global Student Innovation Challenge: gSIC) ในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe 2018 พร้อมส่งเสริมกลุ่มนวัตกรรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก(Assistive Innovation Startup Group)
เนคเทค-สวทช. ประกาศความสำเร็จทีมนักศึกษาของประเทศไทย (Global Student Innovation Challenge: gSIC) ในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe 2018 พร้อมส่งเสริมกลุ่มนวัตกรรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก(Assistive Innovation Startup Group)
7 ก.ย. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

7 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล: ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศความสำเร็จทีมนักศึกษาของประเทศไทย (Global Student Innovation Challenge: gSIC)  ในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe 2018 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2561 ซึ่ง มีสิ่งประดิษฐ์ระดับนักศึกษาจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหพันธรัฐเยอรมัน ประเทศอินเดีย และประเทศญี่ปุ่น  รวม 45 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ได้แก่ ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Design Category) และประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Technology Category) พร้อมส่งเสริมกลุ่มนวัตกรรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Innovation Startup Group) โดยมี ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ร่วมงาน

ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe ได้ดำเนินการมาแล้วถึง ๑๒ ปี มีผลงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมการประกวดและได้รับรางวัลกว่า ๖๐ ผลงาน ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่นำไปใช้งานได้จริงกับคนพิการและผู้สูงอายุ แต่การนำเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุมาใช้ถูกจัดเป็นเครื่องมือแพทย์

 

ทำให้การดำเนินงานการพัฒนาผลงานวิจัยสู่ธุรกิจนั้น ต้องดำเนินงานตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ จะต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการทดสอบทางคลินิก เพื่อให้อุปกรณ์เครื่องมือเหล่านี้ เป็นที่น่าเชื่อถือของแพทย์และผู้ใช้งาน ในปีนี้ได้รวบรวมผลงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีน่าสนใจและผ่านการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุมาพัฒนาต่อยอดให้ผลงานสามารถนำไปใช้เชิงสาธารณประโยชน์หรือเข้าสู่ภาคธุรกิจได้ และต่อยอดให้มีมาตรฐานและนำไปขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์หรือบัญชีนวัตกรรมของประเทศเพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายให้ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และส่งเสริมให้มีการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในภาคสังคมของประเทศ ซึ่งได้มอบหมายให้ สวทช. เป็นผู้ดูแลและให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก จากที่ผ่านมา สวทช.

 

โดย เนคเทค ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านนี้ มาเป็นระยะเวลาหลายปี อีกทั้งยังจัดการประชุมวิชาการ i-CREATe 2018 เวทีที่สำคัญสำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากล เพื่อส่งเสริมนิสิตนักศึกษาให้มีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรมในงานและพระราชทานรางวัลเป็นประจำทุกปี  นอกจากนี้ สวทช. ยังเน้นส่งเสริมให้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ช่วยให้คนพิการและผู้สูงอายุได้มีนวัตกรรมใช้เพื่อความอิสระในสังคมและเสริมสร้างความสุขของการดำรงชีวิตต่อไป

 

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2561 เนคเทค ร่วมกับกลุ่มความร่วมมือด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย (Coalition on Rehabilitation Engineering & Assistive Technology of Asia หรือ CREATe Asia) จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 12 ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2561 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลการประชุมสรุปได้ว่า มีผู้เข้าร่วมงานรวม 510 คน จาก 18 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ไทย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ สหพันธรัฐเยอรมัน สหรัฐอเมริกา สเปน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ อิตาลี อินเดีย อิสราเอล และฮ่องกง มีการแสดงปาฐกถา 5 หัวข้อ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและการบรรยายพิเศษ 17 หัวข้อ มีบทความนำเสนอ 73 เรื่อง เป็นบทความจากประเทศไทย 8 เรื่อง และการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาระดับนานาชาติ 45 โครงงาน ซึ่งเป็นโครงงานจากประเทศไทย 9 โครงงาน

ส่วนการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกคน ให้ความสนใจ เพราะเป็นเวทีที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพการนำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหา และสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และนำเสนอผลงานต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรจากหลากหลายวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมต่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานรางวัลแก่นักศึกษาเป็นประจำทุกปี นับเป็นขวัญและกำลังใจแก่บรรดาเหล่าทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลเป็นอย่างยิ่ง ในปีนี้ ทีมนักศึกษาไทยได้รับรางวัลทั้งสิ้น 8 รางวัล จากทั้งหมด 25 รางวัล มีรายละเอียดดังนี้

รางวัลประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
• รางวัลเหรียญทอง ได้แก่ โครงงาน “Automatic Walker for the Elderly using by
Microcontroller” โดยทีมนักศึกษาสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยวังน้ำเย็น
• รางวัลชมเชย ได้แก่ โครงงาน “SoundSense” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรม
คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
• รางวัลนำเสนอดีเด่น ได้แก่ โครงงาน “SueSan: A Game-based Tool for Enhancing
Autism Children’s Communication Skill” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
• รางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ โครงงาน “Develop Thai Braille’s translator
program and Development Braille’s font in Thai and English language โดยนักเรียนสาขาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี
• รางวัลความเป็นไปได้ทางการตลาดดีเด่น ได้แก่ โครงงาน “Automatic Walker for the
Elderly using by Microcontroller” โดยทีมนักศึกษาสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยวังน้ำเย็น

รางวัลประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
• รางวัลเหรียญทอง ได้แก่ โครงงาน “EZStand Walker” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรม
เครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• รางวัลชมเชย ได้แก่ โครงงาน “Elliptical Trike” โดยทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรม
เครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• รางวัลต้นแบบดีเด่น ได้แก่ โครงงาน “Tiny Urban Vehicle : TU-V” โดยทีมนักศึกษาภาค
วิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ยัง ดร.ศิวรักษ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนคเทคได้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ จัดการส่งเสริมต่อยอดผลงานของนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 11 ปี ตามแนวทางที่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้ให้ไว้เพื่อให้สามารถนำผลงาน ไปใช้ได้จริงจึงจะสร้างกลุ่มนวัตกรธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้น (Assistive Innovation Startup Group) โดยในปีนี้ จะได้รวบรวมผลงานไปต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรม และสามารถนำผลงานไปสู่สาธารณประโยชน์หรือภาคธุรกิจต่อไป

7 ก.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: