หน้าแรก ก.วิทย์ฯ-สวทช. ผนึกกำลัง สามการไฟฟ้า และ ขสมก. ท้าทายเอกชนยกระดับความสามารถในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าของไทย โดยใช้รถเมล์เก่า ขสมก. ครั้งแรกในประเทศไทย
ก.วิทย์ฯ-สวทช. ผนึกกำลัง สามการไฟฟ้า และ ขสมก. ท้าทายเอกชนยกระดับความสามารถในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าของไทย โดยใช้รถเมล์เก่า ขสมก. ครั้งแรกในประเทศไทย
19 ก.ย. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(19 กันยายน 2561) กรุงเทพฯ – กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

แถลงข่าวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมจัดทำบทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการนำรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนามาขยายผลใช้งาน และความคุ้มค่าในการนำรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ของ ขสมก. มาเป็นรถโดยสารไฟฟ้า เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้น และสร้างขีดความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะกรรมการยานยนต์สมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ได้หารือกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์  บีโอไอ และสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง โดยมีการประชุมหารือแนวทางดำเนินการร่วมกัน ตั้งแต่กลางปี 2560 ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ภาคีเครือข่ายพัฒนาการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าไทย” ซึ่งภาคีดังกล่าว มีความเห็นร่วมกันว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตรถโดยสารใช้เองมานาน และการมาของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่รัฐบาลเองได้ส่งเสริมให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าในประเทศ จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของตนไปสู่การผลิตรถโดยสารไฟฟ้า คาดหวังว่าในอนาคตหากมีรถโดยสารไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพภาครัฐเองจะสนใจนำมาใช้งานในกิจการภาครัฐ โดย ขสมก. เองมีรถเก่าอยู่พอสมควร เพื่อสร้างมูลค่าของรถด้วยการนำมาปรับปรุงเป็นรถไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าได้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ กฟน. กฟผ. กฟภ. และ ขสมก. ในด้านการวิจัยและพัฒนา “โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย” โดย สวทช. ได้รับเกียรติจาก กฟน. กฟผ. กฟภ. และ ขสมก. ในการบริหารจัดการกิจกรรม ขณะที่ สวทช. นอกจากบทบาทในการบริหารจัดการกิจกรรมดังกล่าวร่วมกันแล้ว ยังได้สนับสนุนงบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และการทำนโยบายเพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย และได้รถโดยสารไฟฟ้า 4 คันที่พัฒนาต่อยอดจากรถโดยสารประจำทางเก่าของ ขสมก. พร้อมผลศึกษาความเป็นไปได้ในการนำรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนามาขยายผลใช้งาน และความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วเป็นรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. เพื่อนำผลของกิจกรรมไปดำเนินการต่อยอดในเชิงนโยบายให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและประเทศต่อไป

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน. ได้มีการสนับสนุนกิจกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อตอนสนองนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนสถานีอัดประจุ การทดลองใช้ยานยนต์ไฟฟ้านำร่อง การสนับสนุนการทำมาตรฐานเต้ารับเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ ร่วมกับ สวทช. เสนอ สมอ. ซึ่งเป็นที่มาของมาตรฐานเต้ารับเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ประกาศใช้แล้วขณะนี้ ทั้งนี้ ในกิจกรรมพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถประจำทางใช้แล้วของ กฟน. กฟผ. กฟภ. ขสมก. สวทช. จัดร่วมกันในครั้งนี้ ทาง กฟน. มีความตั้งใจในการสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยในการสร้างขีดความสามารถในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า และเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการทดลองใช้งานจริงๆ ใน ขสมก. ซึ่งหากผลการดำเนินการของกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานรัฐและเอกชนของประเทศน่าจะได้แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีความตั้งใจในการผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากการที่ กฟผ. มีการสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ สวทช. มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การสนับสนุนการทำวิจัยด้านการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายใน ไปเป็นรถไฟฟ้า เช่น การดัดแปลงรถยนต์ฮอนด้าแจ็ส รวมทั้งในอนาคตจะมีการดัดแปลงเพิ่มอีก 2 รุ่น คือ นิสสันอัลเมร่า และโตโยต้าแอลทิส  รวมถึงการพัฒนาชิ้นส่วนหลักของรถไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ อินเวอร์เตอร์ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ และระบบปรับอากาศไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กฟผ. เห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการไทย ทดลองผลิตรถโดยสารไฟฟ้าจากพื้นฐานรถประจำทางเก่าของ ขสมก. และได้ทดลองนำไปใช้จริงในรูปแบบของรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ได้ทราบถึงความเหมาะสมในการนำรถประจำทางเก่าไปใช้งาน และการนำรถโดยสารไฟฟ้าที่ทำการวิจัยไปวิ่งให้บริการจริง ซึ่งหากการนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้งานในการขนส่งในเขตเมืองทำได้จริงจะเป็นการลดมลพิษทางอากาศให้ประชาชนอีกด้วย

นายศรัณย์พงศ์ อาชว์สุนทร ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า การดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย กฟภ. ได้สนับสนุนงบประมาณและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับ สวทช. และผู้ประกอบการ ในการวิจัยและพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วเป็นรถโดยสารไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนบุคลากร ร่วมกับ กฟน. กฟผ. สวทช. ขสมก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการพิจารณาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ รวมถึงติดตามการดำเนินงานของโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ กฟภ. สนับสนุนโครงการโดยมีความมุ่งหวังว่า การวิจัยในโครงการดังกล่าว จะเป็นเวทีในการพิสูจน์ศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ รวมไปถึงเป็นการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าไปขยายผลใช้งาน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

นายสาคร รุ่งสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 2 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันมีรถโดยสารให้บริการประชาชนจำนวน 2,674 คัน รองรับเส้นทางเดินรถ 118 เส้นทาง ซึ่งรถโดยสารส่วนใหญ่ใช้ระบบเครื่องยนต์ดีเซล มีอายุการใช้งาน 19-27 ปี มีสภาพเก่าทรุดโทรม และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูง และยังมีค่ามลพิษจากไอเสียสูง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. มีแผนต้องจัดหารถโดยสารใหม่ทดแทนรถเดิม ซึ่งรถใหม่ที่จะต้องจัดหาต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรถโดยสารไฟฟ้าเป็นหนึ่งประเภทที่อยู่ในโครงการจัดหารถใหม่ทดแทนรถเก่าที่ปลดระวาง ซึ่งรถเก่ามีสภาพทรุดโทรม ในโครงการนี้คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีมติให้บริจาครถปลดระวางจำนวน 4 คัน เพื่อเข้าร่วมโครงการ และสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งสถานีอัดประจุสำหรับรถโดยสารไฟฟ้าร่วมกับ สวทช. จำนวน 2 สถานี 4 หัวจ่าย และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะรถที่ได้มาทดลองวิ่งให้บริการในเขตพื้นที่การเดินรถที่ 1 ต่อไป นอกจากนี้ ผลการวิเคราห์ความคุ้มค่าในการนำรถเก่าปลดระวางมาปรับปรุงเป็นรถโดยสารไฟฟ้า และผลประเมินการทดลองวิ่งรถโดยสารไฟฟ้า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับ ขสมก. ในการนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดหารถโดยสารไฟฟ้าตามแผนฟื้นฟูต่อไป

ในกิจกรรมดังกล่าว โครงการฯ จะสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านงบประมาณไม่เกิน 75% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 7 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 9 เดือนในการส่งมอบผลงานรถโดยสารไฟฟ้าที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานของรถโดยสารประจำทางใช้แล้วที่ผ่านเกณฑ์การจดทะเบียนเป็นรถโดยสารไฟฟ้าตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก โดยประกาศให้ ผู้ประกอบการที่สนใจและมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์สามารถยื่นขอรับการพิจารณาสนับสนุนได้ โดยต้องเป็นผู้ประกอบการไทย มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท มีประสบการณ์ดำเนินการด้านการประกอบรถโดยสารหรือผลิตแม่พิมพ์สำหรับโครงสร้างขนาดใหญ่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี และไม่เป็นนิติบุคคลที่ล้มละลาย หรือถูกฟ้องร้อง สามารถส่งข้อเสนอโครงการเพื่อเสนอพิจารณาได้จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th หรือเบอร์โทรศัพท์ 02 177 6449

19 ก.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: