หน้าแรก รมว.วิทย์ ลงพื้นที่ ครม.สัญจรอีสานตอนบน ติดตามโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม
รมว.วิทย์ ลงพื้นที่ ครม.สัญจรอีสานตอนบน ติดตามโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม
12 ธ.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

12 ธ.ค. 2561 ที่วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู – ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน โดยเดินทางไปจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อติดตามโครงการโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย เปิดโอกาสให้ครู เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์ทางวิศวกรรมด้านต่างๆ

ดำเนินการโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สวทช. พร้อมระบุเตรียมสร้างให้ได้ 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างนวัตกร 15,000 คน โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยคณะครูอาจารย์ น้องๆ นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภูร่วมงานกันโดยพร้อมเพรียง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.หนองคาย เพื่อปฎิบัติราชการ โดยจุดแรกของการลงพื้นที่ได้เดินทางไปยังวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู เพื่อเยี่ยมชม “โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม” ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าไปดำเนินงาน

 

เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” รวมทั้งนำแนวคิดสะเต็มศึกษา ซึ่งประกอบด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสต์และคณิตศาสตร์ มาใช้ในการเสริมสร้างความเข้าใจของศาสตร์ต่างๆ ตลอดจนพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ศาสตร์สะเต็มศึกษาในการแก้ปัญหาจริงผ่านการเรียนรู้แบบผ่านการตั้งโจทย์และลงมือปฎิบัติจริง โดยโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม จะเป็นสถานที่ฝึกการเรียนรู้ ทดลองและลงมือสร้างชิ้นงานต่างๆ อันจะนำไปสู่ความเขาใจในศาสตร์ต่างๆ และการสร้างนวัตกรรมต่อไป

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เผยว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งเป้าจะสร้างโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือห้องเรียนเชิงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมให้ได้ 150 แห่งทั่วประเทศในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรให้ได้ 15,000 คน โดยโรงประลองฯ จะมีมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง 10 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น และจะมีการสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค และโรงเรียนต่างๆ ให้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์เพื่อขยายผลสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรในอนาคต ที่สำคัญโรงประลองฯ จะเกิดการสร้างงานใหม่ให้กับวิศวกรผู้ช่วย จำนวน 150 คนเพื่อส่งไปประจำสถานศึกษาทั่วประเทศและจะกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกใหม่ในอนาคตได้ โดยอาชีวศึกษาซึ่งมีอยู่จำนวน 400 แห่งทั่วประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป”

12 ธ.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: