หน้าแรก เนคเทค สวทช. ร่วมฉลองความสำเร็จในบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ ระหว่าง สวทช. SIIT และ JAIST ในโครงการ ทุน JAIST-SIIT Dual PhD Program พร้อมขยายต่ออีก 5 รุ่น
เนคเทค สวทช. ร่วมฉลองความสำเร็จในบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ ระหว่าง สวทช. SIIT และ JAIST ในโครงการ ทุน JAIST-SIIT Dual PhD Program พร้อมขยายต่ออีก 5 รุ่น
7 พ.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมของงานพัฒนากำลังคน

ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมฉลองความสำเร็จในบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ ระหว่าง สวทช. SIIT และ JAIST ในโอกาสนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้ร่วมถ่ายรูปยินดีกับความสำเร็จครั้งนี้ด้วย

จากความสำเร็จของโครงการ ทุน JAIST-SIIT Dual PhD Program ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ในกำกับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ Japan Advanced Institute of Science and Technology (JAIST) ที่มีการดำเนินการตั้งแต่ ปี 2554 ในการพัฒนากำลังคนระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้กว่า 65 คน โดยผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการกว่า 60% ทำงานในภาคอุตสาหกรรมในบริษัทเอกชน เช่น Nissan, Yamaha, Denso, Bridgestone, Toyota, Isuzu, IBM, Huawei, Seagate, WD, Schlumberger, PTT, SCG เป็นต้น 40% ทำงานอยู่ในองค์กรภาครัฐ เช่น การประปานครหลวง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทย เช่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงฉบับปัจจุบัน จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 จึงได้มีการขยายความร่วมมือต่ออีก 5 รุ่นตาม MOA ฉบับใหม่

หลักสูตรของโครงการ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ ในระดับปริญญาเอกที่   สวทช. ร่วมกับ  สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Japan Advanced Institute of Science and Technology (JAIST) ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และแนวทางขับเคลื่อนประเทศสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต มีทักษะอาชีพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ 

  1. เพื่อสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้าน Service Science ด้านวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ด้านการบริหารและการจัดการ (Management) ด้าน ICT และ ด้าน Service Informatics เป็นต้น
  2. เพื่อพัฒนางานวิจัยที่ให้รองรับอุตสาหกรรมบริการภายใต้กรอบงานด้าน Service Science ด้านวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ด้านการบริหารและการจัดการ (Management) ด้าน ICT และด้าน Service Informatics
  3. เพื่อบูรณาการงานวิจัยให้เข้าสู่ผู้ใช้งานในภาคบริการได้อย่างแท้จริง โดยทำวิจัยจากโจทย์จริงที่กำหนดโดยผู้ใช้งานจริง
  4. เพื่อเพิ่มจำนวนหัวข้อวิจัยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ Service Science วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ด้านการบริหารและการจัดการ (Management) ด้าน ICT และด้าน Service Informatics
  5. เพื่อสร้างศักยภาพและความสามารถในการเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงของนักวิจัย สวทช. จากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์งานวิจัยและมีเป้าหมายและตัวชี้วัด ได้แก่

เป้าหมายเชิงปริมาณ

1) ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาที่เป็นประโยชน์และตอบสนองต่อ ความต้องการของประเทศ จำนวนประมาณ 18 คน 

2) ผลการศึกษาวิจัยของนักศึกษา จำนวนไม่ต่ำกว่า 36 เรื่อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

3) จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาที่เป็นประโยชน์และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ จำนวนไม่ต่ำกว่า 6 กิจกรรม

เป้าหมายเชิงคุณภาพ

1) สามารถสร้างกำลังคนด้าน ว และ ท โดยเฉพาะวิศวกร นักวิจัย ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ รอบรับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ โมเดลประเทศไทย 4.0 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG และสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่  อุตสาหกรรมดิจิทัล  อุตสาหกรรมหุ่นยนต์  อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ รวมทั้งมุ่งสู่อุตสาหกรรมบนฐานชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2) มีโครงการวิจัยที่มีภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วม และผลจากการวิจัยถูกนำไปใช้เพื่อสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของบริษัท/อุตสาหกรรมมากขึ้น

โดยมีกลยุทธ์โดยรวมของโครงการ ดังนี้

1) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Japan Advanced Institute of Science and Technology (JAIST) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทั้งความร่วมมือด้านการวิจัย และการพัฒนาบุคลากร วทน. ระดับสูง

2) สร้างการรับรู้ของโครงการกับภาคอุตสาหกรรม และเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับงานวิจัยที่สามารถเป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ที่เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยที่ร่วมดำเนินโครงการ ในส่วนของการส่งบุคลากร/พนักงาน มาเข้าศึกษาในโครงการ รวมถึงการร่วมสนับสนุนโครงการ

3) ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ของโครงการกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มอัตราการสมัคร โดยเน้นความสำเร็จของโครงการในการสร้างบุคลากรเข้าสู่วิชาชีพวทน. และความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของบุคลากรเหล่านั้น

4) พัฒนาเครือข่ายศิษย์เก่า (JAIST Alumni) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ และเชิญชวนให้ร่วมสนับสนุนโครงการ ทั้งในส่วนการสนับสนุนนักศึกษา สนับสนุนการดูงาน/ฝึกงานของนักศึกษา ร่วมพัฒนาโจทย์วิจัยที่เป็นที่ต้องการของหน่วยงานต้นสังกัดที่ปฏิบัติงานอยู่ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงิน

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการทุน JAIST-SIIT Dual PhD Program ในด้านต่างๆ ได้แก่ ในด้านวิชาการ คือจะได้องค์ความรู้ เทคโนโลยีจากงานวิจัยที่นักศึกษาทำงานร่วมกับนักวิจัย และ/หรือ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเกิดผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ  ในด้านสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีประเทศที่ได้รับผลกระทบทางการพัฒนาบุคลากรไม่ต่ำกว่า 11 ประเทศ ได้แก่ประเทศญี่ปุ่น และ 10 ประเทศในกลุ่ม ASEAN เนื่องจากโครงการ JAIST-SIIT Dual PhD Program เป็นหลักสูตรนานาชาติที่ให้การสนับสนุนทุนแก่นักศึกษาจากกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วย ศิษย์เก่าจากโครงการสามารถใช้ความรู้และประสบการณ์จากการเรียนการสอน การวิจัยที่ได้รับจากโครงการ ไปต่อยอดขยายผลในประเทศของตนเองได้

นอกจากนี้ โครงการทุน JAIST-SIIT Dual PhD Program ยังตอบสนองต่อนโยบายและแผนปฏิบัติการ BCG  ในการพัฒนาบุคลากรวทน. ระดับสูง ที่มีคุณภาพ มีความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต มีทักษะอาชีพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และช่วยเสริมสร้าง career path ของบุคลากรวทน. คุณภาพสูงที่จะมีผลต่อ value chain การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายในหัวข้อ

Gravity in Mind: Paradigm shift form motion of objects to motion of things  

โดย Prof. Dr. Hiroyuki lida

Thailand decarbonization Pathway: Just Energy Transition Toward Net Zero 2050 Goal

โดย Assoc. Prof. Dr. Chalie Charoenlarpnopparut

7 พ.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: