สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการอบรมครูแกนนำ “การสร้างสรรค์นวัตกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโรงเรียนตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” ระหว่างวันที่ 16 – 18 กันยายน 2565 ณ โรงแรมรอแยลเบญจา สุขุมวิท กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดทักษะ สมรรถนะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา เตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนเกิดทักษะ สมรรถนะ เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG พัฒนาต่อยอดเป็นทักษะทางอาชีพ ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้แก่เด็กและเยาวชนได้ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นครูผู้สอนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ที่รับผิดชอบสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 76 คน และบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมสังเกตการณ์
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวต้อนรับ และแนะนำภาพรวมกิจกรรมโดยกล่าวถึงหัวใจของ BCG Model อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะช่วยส่งเสริมการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงการนำความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เชื่อมโยงสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์และการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 เรียนรู้ BCG กับความหลากหลายทางชีวภาพ นำโดย ดร. วียะวัฒน์ ใจตรง และ นายทัศนัย จีนทอง นักวิชาการจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เริ่มด้วยการบรรยายในหัวข้อ ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย และความหลากหลายทางชีวภาพของมดที่เชื่อมโยงไปสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้านเศรษฐกิจและอาหาร เรียนรู้วิธีการเลี้ยงมดในหลอดทดลอง และการเลี้ยงมดเป็นอาหารเพื่อสร้างรายได้ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเช่น ไข่มดแดงกระป๋อง
กิจกรรมที่ 2 เรียนรู้ BCG เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดย ดร. ปิยวิทย์ คุ้มพงษ์ ผู้จัดการงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท และทีมงานจาก สวทช. เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบคุณสมบัติของพลาสติกชนิดต่าง ๆ และการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ผ่าน 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) พิจารณาส่วนประกอบ 2) จำแนกชนิดตามสัญลักษณ์ recycle 3) ทดสอบการจม – ลอยในน้ำ 4) การหดของพลาสติกบางชนิดเมื่อได้รับความร้อน เพื่อประดิษฐ์พวงกุญแจ
กิจกรรมที่ 3 เรียนรู้ BCG เรื่องนวัตกรรมอาหาร โดย น.ส.สุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. เป็นการบรรยายให้ความรู้และลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมอาหารที่นำมาใช้ตอบยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเรียนรู้ผ่านกิจกรรมย่อยที่หลากหลาย เช่น การแปรรูปอาหารเพิ่มมูลค่าโปรตีนทางเลือกจากพืช (plant-based protein)นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ “ถ้วยร้อน” และการทดลองทำ “อาหารโมเลกุล”
กิจกรรมที่น่าสนใจ กิจกรรมที่ 4 เรียนรู้ BCG เรื่องเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดย น.ส.จิดากาญจน์ สีหาราช นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. เป็นการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ และนวัตกรรม ผสานกับภูมิปัญญาเพื่อการผลิตให้ได้มาตรฐานทั้งด้านโภชนาการ มีคุณภาพและความปลอดภัยสูง ระบบการผลิตยั่งยืน มีประสิทธิภาพ โดยนำเสนอโรงงานผลิตพืช การปลูกพืชไมโครกรีน แล้วทดลองปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มเพื่อประกอบอุปกรณ์แจ้งเตือนการรดน้ำต้นไม้ ต่อยอดระดมความคิดออกแบบชุดปลูกไมโครกรีน
ต่อด้วย กิจกรรมกลุ่มระดมสมองการนำองค์ความรู้ BCG มาเชื่อมโยงสู่กิจกรรมในชั้นเรียน โดยวิทยากร รศ.ดร. ชาตรี ฝ่ายคำตา และนายณภัทร สุขนฤเศรษฐกุล ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน พร้อมนำเสนอผลงานรายกลุ่ม
วันแรกปิดท้ายด้วยกิจกรรม “BCG Ambassador” ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมได้นำเสนอผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่โดดเด่นด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และอัตลักษณ์สำคัญของชุมชนตนเอง แยกจัดเป็นนิทรรศการตามภูมิภาคแสดงให้เห็นความหลากหลายของทรัพยากรจากแต่ละจังหวัด พร้อมกันนี้ ได้ส่งภาพผลงานพร้อมแคปชั่นโดนใจลงใน Padlet เพื่อร่วมกันโหวต
วันที่ 2 เป็นกิจกรรมกลุ่มย่อย “กิจกรรมที่ 6 เทคนิคนำแนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้ในการสร้างสรรค์โครงงานและสิ่งประดิษฐ์ระดับโรงเรียน/หนึ่งจังหวัดหนึ่งโครงการ BCG” เป็นการลงมือพัฒนา Conceptual โครงงานและสิ่งประดิษฐ์สะเต็มศึกษาตามแนวทางความคิดเชิงออกแบบ โดยคำนึงถึงบริบทท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอัตลักษณ์สำคัญในชุมชน นำเสนอแนวคิด สรุปเพิ่มเติมเสริมด้วยคำแนะนำ สะท้อนผลงานจากคณะวิทยากร เพื่อให้เป็นแนวทางการดำเนินการ ปรับปรุง พัฒนา ต่อยอดและนำไปประยุกต์ใช้จริงในสถานศึกษาอันเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมอบรมต่อไป
ตัวอย่างผลงานแนวทางการพัฒนาโครงงานตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ BCG เช่น เสื้อนาโนเคลือบสารยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์จากเปลือกมังคุด หม่ำจิ๋วคีโตเพื่อคนรักสุขภาพ แอพลิเคชั่นส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมอบรม คุณครูวิวิศน์ ธนะจิตต์สิน โรงเรียนสตรีสิริเกศ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “ดีใจที่ได้มาเรียนรู้ในเรื่องของ BCG พอได้มารู้จักแนวคิด BCG รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สนใจมากสำหรับแนวคิดการนำเรื่องที่ใกล้ตัวมามองในมุมของความยั่งยืนและบริบทความหลากหลายในท้องถิ่น จากการมาร่วมอบรมในครั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองการทำโครงงานตามแนวทาง BCG ร่วมกับคุณครูจากหลายจังหวัด และสนใจนำแนวคิดการคิดเชิงออกแบบไปต่อยอดกับโครงงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน”
“ก่อนมาอบรมไม่รู้จักแนวคิด BCG มาก่อน เมื่อได้มาร่วมอบรมการทำโครงงานตามแนวทาง BCG เป็นความรู้ที่แปลกใหม่และมีประโยชน์มาก การอบรมสนุกมีกิจกรรมให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เห็นมุมมองใหม่ๆ เกิดไอเดียที่จะนำไปต่อยอดกับการจัดกิจกรรมในโรงเรียนซึ่งตอนนี้ทางโรงเรียนของคุณครูมีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น อุทยานธรณีโลกสตูล และคุณครูกับเด็กๆ กำลังทำโครงงาน eco printing จากใบไม้พืชท้องถิ่น คุณครูจะนำหลักการ BCG เรื่องของพัฒนาโครงงานให้ออกมาเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดึงจุดเด่นของบริบทชุมชน การอนุรักษ์ใบไม้ท้องถิ่นและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ที่ได้เรียนรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเด็กๆ เพื่อพัฒนาโครงงานให้สามารถขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป” จาก คุณครูวัลลัดดา สุขหรรษา โรงเรียนบ้านหาญ จ.สตูล