หน้าแรก ‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy
‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy
22 ธ.ค. 2565
0
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2022/picnic-table-furniture-with-circular-design.html

‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy

 

หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือ แนวคิดที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแลธรรมชาติและสังคมอย่างยั่งยืน ดังนั้นการออกแบบนวัตกรรมกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ถือเป็นแนวทางที่ช่วยทำให้ผู้ประกอบการและนักวิจัยได้นำความรู้ ทั้งศาสตร์เชิงกลด้านวิศวกรรมและศาสตร์การออกแบบดีไซน์มาร่วมกันสร้างสรรค์และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทาง ที่สำคัญคือนำกลับมาใช้ซ้ำได้ยาวนาน

ปิกนิก เทเบิล (Picnic Table) เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก คือตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้ประโยชน์จากวัสดุไม้สักอย่างคุ้มค่า ผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของเฟอร์นิเจอร์ โดยตัดขั้นตอนการใช้สารเคมีออกจากกระบวนการผลิต แถมยังส่งผลดีต่อการนำชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์กลับมาใช้งานได้ใหม่ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

 

‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy
ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล (ขวาสุด) และนายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ (คนที่ 2)

 

ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้เชี่ยวชาญวิจัยกลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Simulation) โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาแบบจำลองและออกแบบ เพื่อทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งเติมเต็มเรื่องข้อมูลของผลทดสอบที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้เห็นข้อมูลรอบด้านและสามารถคิดต่อได้ว่าจะเดินหน้าไปในทางไหน ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมของตนเอง

          นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด (DEESAWAT) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ CE ทำให้บริษัทเริ่มกลับมาคิดการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ใหม่ โดยคำนึงถึงการออกแบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางการใช้งาน ไม่ใช่การออกแบบนำการผลิตตามรูปแบบเดิม เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นดีสวัสดิ์ ในฐานะผู้ประกอบการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้สัก ซึ่งเป็นทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์และรักษาคุณค่าของไม้สักไว้ให้ได้นานที่สุด และตอบสนองการใช้งานผู้บริโภคในปัจจุบัน

 

‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy

 

“ปิกนิก เทเบิล คือเฟอร์นิเจอร์ปิกนิกจากงานไม้สัก ที่มีการออกแบบตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จากเดิมที่เคยผลิตชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ โดยนำไม้สักมาแปรรูป ฝังเดือย ใส่กาวเกือบทุกชิ้นส่วน และต้องมีการไสเศษไม้ส่วนเกินออก เพื่อตกแต่งชิ้นส่วนให้เรียบสวยงาม ก่อนนำมาเข้าลิ่ม เข้าเดือย ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์ถูกกำหนดให้ใช้งานแบบตายตัว และบางส่วนถูกตัดทิ้งเป็นของเสีย ใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ  แต่ตอนนี้ดีสวัสดิ์ เปลี่ยนแนวคิดใหม่ มีการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของผลิตภัณฑ์ เพื่อคงคุณค่าของเฟอร์นิเจอร์และวัสดุไม้สักให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด โดยทำในลักษณะของ Modular คือ การออกแบบชิ้นส่วนให้มีความใกล้เคียงกันที่สุด อาศัยการออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากไม้สูงสุด ไม่ทำแบบเข้าลิ่ม เข้าเดือยแบบเดิม และเมื่อผู้ใช้ไม่คิดจะใช้เฟอร์นิเจอร์กลุ่มนี้แล้ว ไม้ทุกชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ก็สามารถถอดออกและคืนกลับเป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อไม่ให้เกิดขยะในอนาคต นี่คือหลักคิดใหม่สำหรับการออกแบบนวัตกรรมกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรต่อเราและโลกด้วย”

นายณัฐกร กีรติไพบูลย์ วิศวกรศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ฟอร์นิเจอร์ดั้งเดิมของดีสวัสดิ์มีการใช้การเข้าลิ่มกาวและสกรูในการยึดชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกัน ทีมวิจัยจึงใช้แนวคิดการออกแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาออกแบบชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ให้มีขนาดที่ใกล้เคียงกัน ขั้นตอนการประกอบจะใช้เพียงสกรูในการยึดติดชิ้นส่วนต่างๆ เท่านั้น เพื่อให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ตลอดเวลา

“ทีมวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนาการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้ใช้งานได้หลากหลาย สามารถถอดชิ้นส่วนกลับไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้ง่าย สำหรับนำไปประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ตามความต้องการ โดยคำนึงถึงความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ ทั้งนี้มีการทดสอบความแข็งแรงและการรองรับน้ำหนัก ซึ่งผลทดสอบพบว่ามีความแตกต่างกับเฟอร์นิเจอร์แบบเดิมเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้มีผลเกิดความเสียหายต่อวัสดุ และโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ หรือ Simulation เพื่อจำลองการออกแบบและใช้งาน ลดการออกแบบที่เกินความจำเป็น หรือ Over Design ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดวัสดุ ลดทรัพยากร ลดต้นทุนและพลังงานในการผลิตได้อย่างมาก และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานด้วย

 

‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy
ชิ้นส่วนสามารถถอดประกอบเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้

‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy

‘ปิกนิก เทเบิล’ เฟอร์นิเจอร์ไม้สักสุดคูล คิด-ออกแบบ ตามแนวคิด Circular Economy

 

ทั้งนี้ผลจากการปรับดีไซน์ของผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์แบบเดิม มาเป็นผลิตภัณฑ์ ‘ปิกนิก เทเบิล’ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยทำให้ลดปริมาณไม้สักในการผลิตได้ 10% ลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิต 12% ลดการสูญเสียเศษไม้ 30% และลดต้นทุนการผลิตโดยรวมได้ถึง 20% ที่สำคัญไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต จึงเป็นมิตรแก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และยังสามารถนำวัสดุในผลิตภัณฑ์ไปหมุนเวียนใช้เป็นวัสดุตั้งต้นใหม่ได้ 100%

นายธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (กพร.) อธิบายเสริมว่า จากการที่ กพร. ทำเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลมานาน ทำให้พิสูจน์ได้ว่า การคิดใหม่ การออกแบบใหม่ (Rethink/Redesign) เพื่อคำนึงถึงการนำผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุการใช้งาน หรือของเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อช่วยให้เกิดรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน และยังช่วยให้เกิดการนำวัสดุต่างๆ มาใช้ซ้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในขั้นตอนของการนำมารีไซเคิล

“เนื่องจากบางผลิตภัณฑ์ไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายในวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แรก จึงช่วยลดต้นทุนในกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบทดแทนให้กับภาคอุตสาหกรรมตามหลักกระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่รัฐบาลขับเคลื่อนได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีอันตราย ต่อมาภายหลังมีระเบียบเรื่องการจำกัดการใช้สารอันตราย ทำให้ต้นทุนของการกระบวนการรีไซเคิลลดลง ขณะเดียวในกระบวนการออกแบบให้ชิ้นส่วนต่างๆ สามารถแยกชิ้นส่วนได้ง่ายขึ้น ทำให้การนำมาหมุนเวียนใช้ซ้ำมีความง่ายขึ้นตามไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม การนำเอาหลักการเศรฐกิจหมุนเวียนมาช่วยในการออกแบบทำให้วัสดุอยู่ในระบบได้นานขึ้น และง่ายต่อกระบวนการดึงไปเป็นวัตถุดิบทดแทนให้กับภาคอุตสาหกรรม นับเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมายทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อให้ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป้าหมายของไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือ Net Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ. 2065 ต่อไป

 

BCG Economy Model

แชร์หน้านี้: