ตามที่มีการแถลงข่าวในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 เปิดตัวผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูก เบซูโตะ เคลียร์ (Besuto Qlears nasal spray) จากสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ช่วยยับยั้งและป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจ เช่น SARs-COV-2 (COVID-19) ไข้หวัดใหญ่ (H1N1) และ RSV จากนั้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 อย.ได้แถลงข่าวถึง ผลิตภัณฑ์เบซูโตะ เคลียร์ นาเซิล สเปรย์ (Besuto Qlears nasal spray) ว่าได้รับการจดแจ้งเครื่องมือแพทย์ เลขที่ 65-1-3-2-0000818 มีวัตถุประสงค์การใช้งานและข้อบ่งใช้ คือ สำหรับพ่นจมูก ใช้เมื่อเริ่มมีอาการเป็นหวัดหรือมีอาการคล้ายหวัด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุโพรงจมูกเนื่องจากอากาศแห้ง ช่วยลดและบรรเทาอาการคัดจมูก ซึ่งภายหลังปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่ามีการแถลงผลการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในสูตรส่วนประกอบ ควบคู่กับการแอบแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์ ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์สามารถยับยั้งหรือฆ่าเชื้อ SARs-COV-2 (COVID-19) ไข้หวัดใหญ่ (H1N1) และ RSV ต้านการอักเสบ ฯลฯ ได้ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับผู้บริโภค ทาง สวทช. ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงถึงความเกี่ยวข้องของ สวทช. กับผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูก เบซูโตะ เคลียร์ (Besuto Qlears nasal spray) จากสารสกัดจากธรรมชาติ ดังนี้
.
บริษัทเอกชนได้ว่าจ้าง สวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้ดำเนินโครงการศึกษากระบวนการไบโอรีไฟเนอรีของเปลือกมะนาว เพื่อให้ได้สารลิโมนีนคุณภาพสูง เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสารชีวเคมีภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ (ระยะเวลาโครงการ 20 ธันวาคม 2564 -19 ธันวาคม 2565)
.
ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 สวทช. ตรวจพบว่าได้มีภาพถ่ายของผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูก เบซูโตะ เคลียร์ (Besuto Qlears nasal spray) และมีการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชื่อสเปรย์พ่นจมูก เบซูโตะ (Besuto nasal spray) มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อการค้า และมีการใช้ตราสัญลักษณ์ของ สวทช. ติดอยู่บนกล่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งทาง สวทช. ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตใช้ตราสัญลักษณ์ของ สวทช.แต่อย่างไร จึงได้แจ้งให้ผู้ผลิตระงับการเผยแพร่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในทันที
.
ไบโอเทค สวทช. ได้ดำเนินโครงการศึกษากระบวนการไบโอรีไฟเนอรีของเปลือกมะนาว เพื่อให้ได้สารลิโมนีนคุณภาพสูง เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสารชีวเคมีภัณฑ์ ตามสัญญาการว่าจ้าง ซึ่งทีมนักวิจัยได้ศึกษากระบวนการแยกสารทางชีวภาพหลายชนิดจากเปลือกมะนาวตามกรอบที่ผู้ว่าจ้างได้ระบุให้ศึกษาว่าสามารถสกัดออกมาได้หรือไม่ โดยผลการศึกษาพบว่าในเปลือกมะนาว นอกจากจะมีสารลิโมนีนที่เป็นเป้าหมายหลักของการศึกษาแล้ว ยังมีสารสำคัญชนิดอื่นด้วย โดยไบโอเทค สวทช. ได้ส่งมอบผลให้บริษัทเอกชนที่ว่าจ้าง และจากผลการศึกษาดังกล่าว ทางบริษัทเอกชนได้คัดเลือกสารฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่งที่พบในเปลือกมะนาว และสารชนิดอื่นๆ ให้ทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโดยใช้เทคโนโลยีไวรัสเสมือนในระดับห้องปฏิบัติการ และทางทีมวิจัยได้ส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทฯ เพื่อทางบริษัทฯ จะได้นำไปพัฒนาและทดสอบทางคลินิคต่อไป โดยเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในวงการวิชาการว่าการทดสอบการทำงานของสารออกฤทธิ์ในระดับห้องปฏิบัติการมีภาวะเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากการใช้งานจริงในร่างกายมนุษย์มาก โดยมีสารออกฤทธิ์จำนวนหลายชนิดที่ทดสอบได้ผลดีในระดับห้องปฏิบัติการแต่ใช้งานจริงไม่ได้ผลในร่างกายมนุษย์ จึงเป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบตามกระบวนการรับรองของ อย. ให้ครบถ้วนก่อนผลิตและจำหน่าย
.
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยของไบโอเทค และนาโนเทค สวทช. ได้ดำเนินการวิจัยและทดสอบตามที่ได้รับการว่าจ้างและส่งมอบผลการศึกษาเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และตามหลักมาตรฐานสากลเท่านั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย รวมถึงการจดแจ้งเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เบซูโตะ เคลียร์ นาเซิล สเปรย์ แต่อย่างใด
หมายเหตุ
ลิโมนีน (limonene) เป็นสารในกลุ่มอะโรมาติกโมโนเทอร์ปีนที่เป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย (essential oil) ที่ได้จากเปลือกผลไม้ตระกูลส้มและมะนาวโดยมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชภัณฑ์ (nutraceutical) สารต้านจุลินทรีย์ สารกำจัดแมลง และใช้เป็นตัวทำละลายอินทรีย์และสารเติมแต่งในการผลิตน้ำหอม ผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารและเครื่องดื่มโดยจัดเป็นสารที่มีความปลอดภัยและมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี โดยสามารถเปลี่ยนเป็นสาร building block ต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งทำให้มีความต้องการสารลิโมนีนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน