หน้าแรก แบตเตอรี่เสื่อม ซึม รั่ว ภัยใกล้ตัวที่ควรระวัง
แบตเตอรี่เสื่อม ซึม รั่ว ภัยใกล้ตัวที่ควรระวัง
27 ก.ย. 2567
0
ข่าว
บทความ

แบตเตอรี่เสื่อม ซึม รั่ว ภัยใกล้ตัวที่ควรระวัง

 

เมื่อแบตเตอรี่ที่ใช้งานเริ่มเสื่อมสภาพ มักเกิดอาการบวม มีรอยรั่ว และมีสารเคมีรั่วซึมออกมา ซึ่งสารเคมีที่ใช้ในแบตเตอรี่แต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันออกไป การรั่วซึมของสารเคมีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดีนัก มีสารเคมีหลายชนิดที่เป็นพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา

อย่างถ่านไฟฉายธรรมดา (แบตเตอรี่สังกะสี-คาร์บอน) ใช้สังกะสีเป็นขั้วลบ แมงกานีสไดออกไซด์เป็นขั้วบวก สารละลายแอมโมเนียมคลอไรด์และซิงก์คลอไรด์เป็นอิเล็กโทรไลต์ เมื่อถ่านหมด นั่นหมายความว่าสารแมงกานีสไดออกไซด์ถูกทำปฏิกิริยาจนหมด เหลือแต่สารละลายอิเล็กโทรไลต์ที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งจะไปกัดกร่อนตัวปลอกถ่านที่เป็นสังกะสีจนทำให้สารเคมีภายในรั่วไหลออกมาได้ โดยแอมโมเนียมคลอไรด์อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองทางเดินหายใจ ผิวหนัง และดวงตา ไอซิงก์คลอไรด์เป็นพิษเป็นอันตรายต่อระบบหายใจ ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณโพรงจมูก ระคายเคืองผิวหนังและเนื้อเยื่อต่าง ๆ

ส่วนถ่านแอลคาไลใช้สารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์เป็นอิเล็กโทรไลต์ที่มีฤทธิ์เป็นเบส ซึ่งเกิดปฏิกิริยาเคมีกับปลอกสังกะสีได้เช่นเดียวกันเมื่อถ่านหมดอายุการใช้งานแล้ว นอกจากการรั่วไหลของสารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนทำลายผิวหนังและดวงตาแล้ว ยังพบโลหะหนักหลายชนิดปะปนด้วย เช่น แคดเมียมที่ก่อให้เกิดโรคอิไตอิไตและมะเร็ง, ปรอทที่ทำให้ระคายเคืองผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ความจำเสื่อม ไตวาย, ตะกั่วที่ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ความคิดสับสน ชัก หมดสติ

มาถึงแบตเตอรี่ตัวท็อปที่ใช้งานกันแพร่หลายอย่างลิเทียมไอออน สารอิเล็กโทรไลต์ของแบตเตอรี่ชนิดนี้ประกอบด้วยเกลือลิเทียมและตัวทำละลายอินทรีย์จำพวกคาร์บอเนต ซึ่งเมื่อสัมผัสกับน้ำหรือความชื้นภายนอกเซลล์ก็จะเกิดเป็นกรดไฮโดรฟลูออริกที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง มีความเป็นพิษ และก่อให้เกิดอาการระคายเคืองสูง กรดดังกล่าวทำลายเนื้อเยื่อและรบกวนการทำงานของระบบประสาท ผู้ที่สัมผัสกรดอาจไม่รู้สึกเจ็บในตอนแรก แต่ส่งผลในระยะยาวทำให้กระดูกพรุนและข้อเสื่อม นับว่าเป็นกรดที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างยิ่ง

แบตเตอรี่เสื่อม ซึม รั่ว จึงเป็นภัยใกล้ตัวที่เราไม่ควรมองข้าม เมื่อพบว่าแบตเตอรี่เสื่อมเมื่อไร อย่าดันทุรังใช้งานต่อ และอย่าเอาไปทิ้งสุ่มสี่ห้ารวมกับขยะอื่น ควรแยกและนำไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่ : https://www.mtec.or.th/post-knowledges/47282/

 


เรียบเรียงโดย รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.

แชร์หน้านี้: