For English-version news, please visit : Thai student team wins Intel AI Global Impact Festival Grand Prize
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนประเทศไทย โดย นายธนภัทร จรัญวรพรรณ นายนพวิชญ์ ฉุนรัมย์ และ นายแมท แทนไทย คอช นักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้พัฒนาผลงาน “เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเองจากเสียงเสต็ตโทสโคปด้วยอัลกอริธึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม” (CS-M Tool)
โดยมี อาจารย์รุ่งกานต์ วังบุญ อาจารย์กฤติพงศ์ วชิรางกุล และ อาจารย์สาธิตา วรรณรัตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และมีที่ปรึกษาเชี่ยวชาญทางโรคหัวใจและนวัตกรรม จากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ พญ.แรกขวัญ สิทธิวางค์กูล ผศ.ดร.นพ.นราวุฒิ ประเสริฐวิทยากิจ รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม อ.นพ.ชโนดม เพียรกุล และ ผศ.ดร. ยศธนา คุณาทร ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกในฐานะที่สร้างสรรค์ผลงานปัญญาประดิษฐ์ที่มีผลกระทบสูง (Global Award winners for AI Impact Creator) ในระดับเยาวชนอายุ 13-17 ปี จากเวที Intel AI Global Impact Festival 2022 จัดโดย บริษัท อินเทล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเดินทางไปร่วมนำเสนอผลงานและเข้ารับรางวัลจาก CEO ของบริษัท อินเทล Mr. Patrick P. Gelsinger ในงาน Intel Innovation 2022 Conference ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2565 ใน Silicon Valley ณ เมืองซานโฮเซ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยและทีมอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกครั้ง จากความคิดสร้างสรรค์สู่สิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กับผลงาน “เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเองจากเสียงเสต็ตโทสโคปด้วยอัลกอริธึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม” (CS-M Tool) โดยผลงานนี้ได้ผ่านเวทีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 (National Software Contest: NSC 2022) ซึ่งจัดโดย สวทช. เป็นประจำทุกปี โดยได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทโปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการและผู้สูงอายุ ระดับนักเรียน และเข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการประจำปีของ สวทช. (NSTDA Annual Conference: NAC) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และล่าสุดในการประกวด Intel AI Global Impact Festival 2022 จัดโดย บริษัท อินเทล ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวทีสำหรับนักวิจัย นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้บริหารและนักวิชาการ เข้าร่วมเพื่อหารือและใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายโลกในปัจจุบัน มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงานจาก 25 ประเทศทั่วโลก และจะมีการมอบรางวัลชนะเลิศให้กลุ่มเยาวชน 6 รางวัลและครูอาจารย์อีก 3 รางวัล ซึ่งนอกเหนือจากทีมเยาวชนไทยแล้ว ยังมีผลงานของเยาวชนจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกาที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ จึงนับเป็นความสำเร็จของประเทศไทยที่มีบุคลากรในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทัดเทียมประเทศระดับแนวหน้าของโลก
ผลงาน CS-M Tool ของเยาวชนไทยจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับหูฟังของแพทย์ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทั่วไปสามารถตรวจคัดกรองหัวใจในเบื้องต้นเองได้ เพื่อจะได้ช่วยป้องกันและลดการสูญเสียบุคลากรจากโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของไทยและทั่วโลก มีศักยภาพในการเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์สำหรับโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลประจำตำบล และตอบโจทย์นโยบาย BCG Economy Model ของรัฐบาล