หน้าแรก ‘เมืองนวัตกรรมอาหาร-พันธมิตร’ เปิดยิ่งใหญ่ การแข่งขันสุดยอดนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2022 เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม ‘อาหารสตรีทฟู้ด-อาหารหมักดองพื้นถิ่น’
‘เมืองนวัตกรรมอาหาร-พันธมิตร’ เปิดยิ่งใหญ่ การแข่งขันสุดยอดนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2022 เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม ‘อาหารสตรีทฟู้ด-อาหารหมักดองพื้นถิ่น’
8 ต.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(7 ตุลาคม 2565) ณ ลานคนเมือง ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร : ผศ. ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. นายพร ดารีพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟู้ดแฟคเตอร์ จำกัด ในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ ดร.วาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด นายวุฒิชัย เจริญศุภกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังผัก จำกัด ดร.กีรติ ตระการศิริวานิช คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่

ร่วมแถลงข่าวการเปิดงานประกวดนวัตกรรมอาหารรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โครงการ Food Innopolis Innovation Contest 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคมนี้ โดยมีทีมผู้เข้าแข่งขันและแสดงผลงานจำนวน 40 ทีมกว่า 40 ผลงานตลอด 3 วันของการจัดงาน ซึ่งจะมีการประกาศรางวัลชนะเลิศ ในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ เพื่อเฟ้นหาทีมที่ชนะในโจทย์การแข่งขันอาหารสตรีทฟู้ดและอาหารหมักดองพื้นถิ่น ในการนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารสู่เชิงพาณิชย์จากโครงการประกวด

ผศ. ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  สวทช. โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis เป็นหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นและมีความเชี่ยวชาญในด้านการขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารของประเทศผ่านเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารของประเทศ ได้จัดประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร โครงการ Food Innopolis Innovation Contest 2022 มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ภายใต้การดำเนินงานโดย Food Innopolis Accelerator แพลตฟอร์มเร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการอาหาร โดยร่วมกับพันธมิตรหลักคือ บริษัท ฟู้ดแฟคเตอร์ จำกัด บริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ และได้รับการสนับสนุนจาก KCG Corporation ศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวิทยาการอาหารนานาชาติ (iGTC) ,สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) และบริษัท พลังผัก จำกัด รวมทั้งมหาวิทยาลัยเครือข่ายของ Food Innopolis ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาหารรุ่นใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารเพื่อความขีดความสามารถของประเทศ

“โครงการนี้มีการจัดกิจกรรมอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นความสนใจด้านการพัฒนานวัตกรรมอาหาร และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการผสมผสานทั้งเทคโนโลยีและธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารของไทย และได้เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา นักวิจัยและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ได้มีอีกหนึ่งเวทีสำคัญเพื่อเป็นเส้นทางในการพัฒนาและเติบโตในสายอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นการสร้างคนที่มีความรู้และทักษะใหม่ๆ เตรียมความพร้อมการเป็นนักนวัตกรรมอาหารที่สามารถเติบโตต่อไปในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ที่ไปอยู่ในตลาดในอนาคต

ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. กล่าวเสริมว่า โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โครงการ Food Innopolis Innovation Contest 2022 ในปีนี้แบ่งผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย รุ่น Fly weight (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) 16 ทีม รุ่น Light weight (ระดับปริญญาตรี) 16 ทีม และ รุ่น Heavy weight (รุ่นบุคคลทั่วไป) 8 ทีม โดยวันนี้ได้ 40 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย (จากผลงานที่ส่งเข้าประกวด 130 ทีมทั่วประเทศ) ซึ่งมีแนวคิดที่น่าสนใจที่สามารถนำต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารของทีมไปต่อยอดสู่เชิงพาณฺชย์ได้ โดยมี 2 หัวข้อในการประกวดการสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร ได้แก่ 1.นวัตกรรมอาหารสตรีทฟู้ด (Street Food Innovation) และ 2.นวัตกรรมอาหารหมักดองพื้นถิ่น (Local Fermented Food Innovation) ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดประกวดผลงานนวัตกรรมอาหารเท่านั้น แต่เป็นการอบรมพัฒนาให้ความรู้และให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นในเรื่องการพัฒนาแนวคิดสู่การขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร แนวคิดการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมและการนำเสนอธุรกิจอย่างมืออาชีพ

“ทุกปีของการจัดประกวด เราจะมีผลิตภัณฑ์ที่ถึงแม้ไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ก็มีการนำไปต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตอาหารในหลายผลิตภัณฑ์ โดยน้องๆ ในรุ่นมัธยมศึกษาก็จะได้รับโอกาสการพิจารณาเป็นพิเศษให้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ส่วนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีก็มักได้รับโอกาสในการเข้าทำงานที่ดีๆ หรือสามารถเริ่มต้นพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมอาหารของตนเองได้ ส่วนนักวิจัยและผู้ประกอบการที่แข่งในรุ่นใหญ่ ก็เติบโตต่อในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาด ขยายลูกค้า หาคู่ค้า พันธมิตรธุรกิจใหม่ และการร่วมทุน”

นายพร ดารีพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟู้ดแฟคเตอร์ จำกัด กล่าวว่า วัฒนธรรมด้านอาหาร และ Local Food ของไทยมีความโดดเด่นอย่างมากและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะอาหารสตรีทฟู้ด (Street Food) และอาหารหมักดองพื้นถิ่น (Local Fermented Food) เช่น เครื่องปรุงรสต่างๆ ที่นำมาใช้เสริมรสชาติของอาหาร ให้มีความเฉพาะตัว แต่การที่จะ Transform สิ่งเหล่านี้ไปสู่ผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต ที่มีไลฟ์สไตล์แบบใหม่นั้น ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก จึงเป็นที่มาของโจทย์ 2 หัวข้อการแข่งขันของ Food Innopolis Innovation Contest ในครั้งนี้ คือการคิดค้นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าในรูปแบบต่างๆ ให้กับสตรีทฟู้ดและอาหารหมักดอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ด้วย

ทั้งนี้ ฟู้ดแฟคเตอร์ก็พร้อมสนับสนุนน้องๆ นวัตกรรุ่นใหม่ ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรในธุรกิจอาหารแบบครบวงจรของเรา ให้สามารถ Commercialize ได้จริง ทั้งด้านการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ การต่อยอดด้านการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของนวัตกรรมอาหารไทยบนเวทีโลก

ด้าน ดร.วาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท เคซีจีฯ พร้อมให้การสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารสู่ความเป็นไปได้ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ในโครงการฯ ประกวดแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งการจะกระตุ้น ชักจูงและโน้มน้าวให้เกิดนวัตกรรมทางด้านอาหาร จะต้องเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งโจทย์การแข้งขันปีนี้เป็นเรื่องท้าทาย คือ ด้านอาหาร Street Foods เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรู้จักเราดี ด้วยความอร่อย ความหลากหลายและราคาที่ยุติธรรม การแข่งขันจะช่วยยกระดับและพัฒนา Street Foods ไปอีกขั้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ชื่นชอบอาหารไทน ส่วนเรื่องโจทย์ด้านอาหารหมักดองพื้นถิ่น (Local Fermented Foods) ก็เป็นการยกระดับและสร้างโอกาสให้กับชุมชนและอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งนี้บริษัท เคซีจีฯ พร้อมซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสําคัญด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในทุกโอกาสเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศ

เช่นเดียวกับ นายวุฒิชัย เจริญศุภกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังผัก จำกัด กล่าวว่า การประกวดนี้จะมีส่วนช่วยผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ให้มีเวทีการประกวดที่สร้างแรงจูงใจ และผลักดันให้ผู้เข้าแข่งขันมีโอกาสการทํางานวิจัยที่สร้างสรรค์ รวมทั้งได้ประสบการณ์ใหม่ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนําไปปรับใช้ในอนาคต ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทําธุรกิจให้ประสบความสําเร็จ ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบด้านการทํางานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม ที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในทางการตลาดและธุรกิจ อย่างไรก็ตามบริษัท พลังผักฯ พร้อมให้การสนับสนุนหากผู้เข้าแข่งขันมีความต้องการหาความร่วมมือกับบริษัทฯ โดยเฉพาะด้านการตลาดที่เข้าถึงช่องทางการค้าที่สมัยใหม่ (Modern trade) ซัพพลายเชน และการบริหารธุรกิจที่เป็นมืออาชีพและมีระบบที่เป็นมาตรฐานสากล

8 ต.ค. 2565
0
แชร์หน้านี้: