หน้าแรก สวทช. ร่วมมือกับโรงเรียนและสถานเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเยาวชนสู่พลเมืองโลก (Global Citizen)
สวทช. ร่วมมือกับโรงเรียนและสถานเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเยาวชนสู่พลเมืองโลก (Global Citizen)
8 พ.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สวทช. ได้นำคณะนักเรียนไทย จำนวน 20 คน ร่วมกิจกรรม The 5th International STEAM Camp ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ถึง 25 เมษายน 2567 ณ Kyushu International University Junior High School พิพิธภัณฑ์ และแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ในจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการสนับสนุนจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ เพื่อได้รับประสบการณ์และเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ (STEAM) ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ กิจกรรมมีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนได้พัฒนาสู่การเป็นพลเมืองโลก หรือ Global citizen ที่มีความตระหนักต่อปัญหาและโอกาสที่เกิดขึ้นในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขยะ ความขาดแคลนอาหาร และการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าใจและเปิดกว้างในแบ่งปันประสบการณ์กับผู้คนในวัฒนธรรมอื่น ๆ

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวว่า วันแรกของการเดินทางมาถึงเมืองฟูกูโอกะ เข้าฟังบรรยายพิเศษ จากนายโกศล สถิตธรรมจิตร กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ เกี่ยวกับ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และอุตสาหกรรมสำคัญในญี่ปุ่น ตลอดจนความร่วมมือระหว่างฟูกูโอกะและประเทศไทย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียนรู้ค่านิยมในการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่น อาทิ ความตรงต่อเวลา การให้ความสำคัญกับธรรมชาติ การถูกฝึกให้ต้องช่วยเหลือตัวเองและเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติเป็นตั้งแต่เล็ก ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันในประเทศไทยได้ต่อไป จากนั้นนักเรียนยังได้สนุกกับการลงมือผลิตเมนไทโกะที่ Hakata Food and Culture Museum และการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาช่วยในการอุตสาหกรรมอาหาร

นอกจากนี้ในวันที่สองเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ โดยนักเรียนไทยได้ร่วมกิจกรรมเรียนร่วมกันกับนักเรียนญี่ปุ่นที่ Kyushu International University Junior High School ที่เมืองคิตะคิวชู ซึ่งน้องๆ นักเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเรียนญี่ปุ่นในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ไปจนถึงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งกิจกรรมคือการเยี่ยมชมศูนย์ ECO-Town Center ที่ซึ่งนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนและแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางมลพิษสิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการหมุนเวียนในระบบอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเมือง ส่วนวันที่สาม ได้เข้าทำกิจกรรมการจำลองวิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ Fukuoka Civic Disaster Emergency Center ซึ่งให้ความรู้และทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ Kyushu National Museum ซึ่งเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง และจบท้ายด้วยการแวะขอพรด้านการศึกษาและเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมอันสวยงามที่ Dazaifu Tenmangu

ด.ช.ภาวัชร วงษ์วานิช (น้องเปรม) นักเรียนระดับชั้นมัธมยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนจิตรลดา จังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นประสบการณ์และความรู้น่าสนใจที่ไม่สามารถได้เรียนในห้องเรียน รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม เพราะได้ความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคโบราณของญี่ปุ่น หรือสถานที่ให้ความรู้ต่าง ๆ เช่น ศูนย์ภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังได้รับความรู้จากการบรรยายของไกด์เกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นด้วย ในส่วนของกิจกรรมที่โรงเรียน เป็นกิจกรรมที่ผมชอบมากที่สุด เพราะได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนญี่ปุ่น ทั้งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นความรู้จากการที่ได้ทำกิจกรรมในห้องเรียนกับนักเรียนญี่ปุ่น ยังมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ได้คุยแลกเปลี่ยนกันด้วย ความรู้ที่ได้รับจากค่ายนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น กิจกรรมที่ศูนย์ภัยพิบัติ ทำให้เรียนรู้เกี่ยวกับอัคคีภัยและแผ่นดินไหว การปฏิบัติตนเมื่อเกิดไฟไหม้ และการใช้ถังดับเพลิง หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ผมก็จะสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องมากขึ้นหากเกิดไฟไหม้

นายณัฐนัย โกไศยกานนท์ (น้องแอนฟิลด์) นักเรียนระดับชั้นมัธมยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มีความประทับใจที่ได้เจอเพื่อนร่วมเดินทางที่ดี ชอบสถานที่ ที่ สวทช. พาไป ค่ายนี้ทำให้ได้เรียนรู้การใช้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น มากขึ้น ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ความเป็นระเบียบและการตรงต่อเวลาของคนญี่ปุ่น ซึ่งส่วนตัวทำให้อยากปรับตัวเองให้มีระเบียบและตรงต่อเวลาด้วยเช่นกัน ส่วนกิจกรรมที่ชอบมากที่สุด คือ กิจกรรมที่ ECO-Town ได้เรียนรู้ขั้นตอนการรีไซเคิลของรถยนต์ หรือการนำชิ้นส่วนรถที่ใช้ได้มาขายต่อ และได้ดูงานเกี่ยวกับกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการนำพลังงานลมมาใช้ประโยชน์

ด.ญ.อธิรดา กลางสุพรรณ์ (น้องไทม์) นักเรียนระดับชั้นมัธมยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน สามเสนวิทยาลัย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการเยี่ยมชมและทัศนศึกษา Fukuoka City Science Museum ว่า ชอบส่วนการจัดแสดง Environment มากที่สุดเพราะเนื้อหาอธิบายได้เข้าใจง่าย รูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น สามารถมีส่วนร่วมกับสิ่งที่จัดแสดงไว้ได้อย่างอิสระ สามารถทดลองสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วยตนเองได้เลย และทำให้รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เข้าใจง่ายขึ้น นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับเนื้อหาที่เรียนได้ รวมถึงสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น เรื่องเกี่ยวกับระบบสุริยะ ทำให้เข้าใจดาราศาสตร์ได้มากขึ้น นำไปเรียนต่อในวิชาวิทยาศาสตร์ได้ หรือเรื่องที่นำพลังงานใส่ในตัวกลางแต่ละชนิดแล้วได้ผลลัพธ์แตกต่างกัน สามารถนำมาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งความรู้ที่ได้สามารถนำมาประยุกต์หรือปรับใช้หรือสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ด.ญ.ภรภัทร เลขะวัฒนะ (น้องจาจา) นักเรียนระดับชั้นมัธมยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเซนต์โยเซฟบางนา จังหวัดสมุทรปราการ ได้กล่าวถึงการเยี่ยมชมและทัศนศึกษา ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ Fukuoka Civic Disaster Emergency Center ว่าชอบกิจกรรมต่าง ๆ เพราะได้ลองลงมือใช้อุปกรณ์จริง เช่น การสอนใช้ถังดับเพลิง, การจำลองสถานการณ์ไฟไหม้ด้วยอุปกรณ์ VR รวมถึงชอบเจ้าหน้าที่ของทางศูนย์ภัยพิบัติที่สอนและยกตัวอย่างได้อย่างเข้าใจ และยังได้กล่าวถึงความรู้ที่ได้รับสามารถนำมาประยุกต์หรือปรับใช้หรือสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ว่านำความรู้ที่ได้มาใช้เป็นทักษะในการรับมือต่อภัยพิบัติต่าง ๆ และสร้างแรงบันดาลใจทางด้านเทคโนโลยี ในเรื่องของการจำลองภัยพิบัติ เช่น การใช้ VR ในการจำลองสถานการณ์

8 พ.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: