ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ร่วมจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษา “Happy Talented Podcast and Radio Drama Creators” รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom ให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น จากโรงเรียนสอนคนตาบอด จำนวนทั้งหมด 17 แห่งทั่วประเทศ เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านเสียง การสร้างเสียงในละครวิทยุ และพอดแคสต์ แล้วทดลองสร้างสื่อนิทานเสียง เพื่อรณรงค์สร้างโลกสวยด้วยมือเรา โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 รอบคือ รอบที่ 1 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 จัดกิจกรรมเพื่อเตรียมการจัดค่ายสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น โดยอบรมให้กับครูผู้สอน จำนวน 56 คน และรอบที่ 2 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 จัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น จำนวน 99 คน รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom
เริ่มกิจกรรมโดย นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาชีพ และเสริมทักษะด้านการแก้ไขปัญหา การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม ความรู้วิทยาศาสตร์ ในการบรรยาย “สถานการณ์โลกปัจจุบันและแนวทางสร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่” และวิทยากรรับเชิญ คุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท Cloud & Ground มาเล่าประสบการณ์การทำงานด้านพอดแคสต์ และเน้นย้ำหลักสำคัญของการสร้างสื่อทางเสียง ในหัวข้อ “หัวใจสำคัญของการสื่อสาร”
จากนั้น นางสาวจิดากาญจน์ สีหาราช และนางสาวกนกพรรณ เสลา นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ชวนนักเรียนร่วมกันระดมสมอง และมองหาปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเรื่องใกล้ๆ ตัว เช่น ขยะในโรงเรียน ฝุ่นควันจากการเผาไหม้ในชุมชนที่เด็กอยู่ ปัญหาฝนตกไม่ตามฤดูกาลส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน เป็นต้น เพื่อนำมาสร้างนิทานเสียงในกิจกรรม “สร้างเรื่องราว และสร้างเสียงเพื่อรณรงค์โลกให้น่าอยู่” ยกตัวอย่างสื่อนิทาน ที่ประยุกต์ใช้เสียงในการรณรงค์ แนะนำหลักการสร้างสื่อ และแนวทางในการจัดทำสคริปต์เพื่อสร้างเรื่องราวให้สมบูรณ์ โดยก่อนที่นักเรียนเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน นางสาวสลิลรัตน์ ประสพฤกษ์ นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ชวนนักเรียนทดลองสร้างเสียง พร้อมยกตัวอย่างการใช้อุปกรณ์การสร้างเสียงหลากหลายรูปแบบ และให้นักเรียนทดลองสร้างเสียงต่างๆ จากอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ง่าย รอบตัว สร้างเสียงประกอบ เช่น เสียงฝนตกจากเมล็ดข้าวที่โรยลงแผ่นกระดาษ เสียงม้าวิ่งจากการเคาะโต๊ะ เสียงไก่ขันจากการกระตุกเชือกกับแก้วกระดาษ เสียงนกร้องจากเป่าหลอดดูด เป็นต้น ในกิจกรรม “สนุกกับเสียงและการสร้างเสียงในละครวิทยุและพอดแคสต์”
จากนั้นนักเรียนร่วมกันสร้างนิทานเสียง และได้นำเสนอผ่านกิจกรรม “นำเสนอผลงานและเล่นเกม เสียงนี้ได้มาอย่างไรนะ” โดยนายอภิรัตน์ ฐิติมั่น นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ได้ซักถาม และพูดคุยถึงที่มา และความหมายของสื่อที่ต้องการนำเสนอ รวมถึงวิธีการสร้างเสียงประกอบสื่อ และชวนนักเรียนร่วมกันทาย เสียงปริศนา ซึ่งเป็นเสียงที่นักเรียนควรรู้ และตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เช่น เสียงสัญญาณเตือนไฟไหม้ ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการแนะนำอาชีพและงาน เช่น นักเขียนบท นักจัดรายการ นักสร้างเสียงประกอบ เป็นต้น