หน้าแรก วิจัย “พันธุ์ไม้ป่าชายเลน” เสี่ยงสูญพันธุ์
วิจัย “พันธุ์ไม้ป่าชายเลน” เสี่ยงสูญพันธุ์
21 ก.ย. 2563
0

เรียบเรียง: อาทิตย์ ลมูลปลั่ง

ป่าชายเลนเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต (supermarket) ขนาดใหญ่ เป็นแหล่งผลิตอาหาร พืชผักและพืชสมุนไพรให้กับชุมชน ทำหน้าที่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและลดความสูญเสียจากอุทกภัย กรองสิ่งปฏิกูลต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ทะเล และยังช่วยฟอกอากาศลดภาวะโลกร้อน เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณที่มากกว่าป่าประเภทอื่น 3-4 เท่า เนื่องจากลักษณะของพืชป่าชายเลนส่วนของใบมีความหนาแน่นสูงจึงช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนและทำให้อากาศบริเวณนั้นๆ สดชื่น

ข้อมูลเมื่อปี 2562 ป่าชายเลนในประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าคงสภาพ 1,538,185 ไร่ ลดลงไปจากอดีตอย่างมาก โดยปี 2504 มีพื้นที่มากถึง 2,299,375 ไร่ 

แม้ว่าพื้นที่ป่าชายเลนมีแนวโน้มสูงขึ้นจากนโยบายการฟื้นฟูป่าชายเลน หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปลูกป่าชายเลนทดแทน และการดูแลรักษาพื้นที่ป่าชายเลนในภาพรวมของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบาย วางแผน และบริหารจัดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู กำหนดเขตคุ้มครอง และป้องกัน บำรุงรักษาพื้นที่ทรัพย“กรป่าชายเลนของประเทศไทย 

ทว่ายังคงมีการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นากุ้ง นาเกลือ การขยายตัวของชุมชนเมือง การทำเหมืองแร่ การสร้างท่าเทียบเรือ การขุดลอกร่องน้ำ และการทำอุตสาหกรรม ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ป่าชายเลนที่เป็นป่าธรรมชาติลดลง จำนวนชนิดลดลงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะชนิดที่กระจายพันธุ์ได้น้อย และพบเฉพาะถิ่น

จึงเกิดความร่วมมือการวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ สนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ในสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.๙ ที่จะเป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลกนำมาไว้ที่นี่ที่เดียว

นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช.

นายโสภณ ทองดี อธีบดี ทช. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดและยกระดับงานวิจัยด้านป่าชายเลน และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านป่าชายเลนของโลกโดยมีสวนพฤษศาสตร์นานาชาติ ร.๙ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ทช. ให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ โดยใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับจีโนม พันธุกรรม และความสัมพันธ์กับระบบนีเวศ ตลอดจนวิธีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในระยะยาว ให้เกิดการบริหารจัดการและสามารถนำความรู้ไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูในถิ่นกำเนิด ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในระยะแรกมุ่งเป้าศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่หายากใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชาชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (สิ้นสุดในปี 2565)  ดำเนินการโดย ส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งมีศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1-6 ของ ทช. เป็นหน่วยงานภาคสนาม ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 24 จังหวัด ร่วมดำเนินการ ได้แก่  ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 ตราด จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 สมุทรสาคร ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 ระนอง ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 พังงา ประกอบด้วย จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 สตูล ประกอบด้วย จังหวัดสตูล ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

ทั้งนี้ ทช. ยังพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน เป็นโครงการป่าในเมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้แก่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง และให้มีส่วนร่วมในการรักษาผืนป่าไว้ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน ด้วยการทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาและเข้าใจน‘เวศของป่าชายเลน นอกจากนั้นแล้วในจังหวัดระนองซึ่งม’ผืนป่าชายเลนพื้นที่กว่าแสนไร่ โดย ทาง ทช. กำลังพัฒนาให้เกิดการยกระดับไปสู่ผืนป่าชายเลนระดับโลก 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำหรับความสําคัญของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน สวทช. ภายใต้กระทรวง อว. ทำหน้าที่สนับสนุน องค์ความรู้ เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่พัฒนาร่วมกันนั้นอยู่บนฐานความรู้ และต่อยอดบนฐานวิทยาศาสตร์ โดยมั่นใจว่าการทำงานร่วมกันจะส่งเสริมให้การเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ สวทช. ยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ ได้แก่ ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยการวิจัยแนวหน้าในระดับจีโนมและพันธุกรรม โปรตีนและการแสดงออกของยีน โดยเฉพาะชนิดที่มีการแพร่กระจายน้อย หายาก ใกล้สูญพันธุ์ โดยผลงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทั้งวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลน เกิดการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต สร้างความมั่นคงทางอาหารและทางระบบนิเวศให้กับป่าชายเลนในประเทศไทยคงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวหน้าชุมชนมีรายได้ และเกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติกล่าวว่า ป่าชายเลนถือเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็มมีพันธุ์พืช มากกว่า 80 ชนิด อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประมงชายฝั่ง ในปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการที่สำคัญในระดับโลก คือ โครงการ “สตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9” ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บ้านเสม็ดงาม จ. จันทบุรี จะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยป่าชายเลนในระดับนานาชาติ 

ความร่วมมือระหว่าง ทช. และ สวทช. จะเป็นการนำเอาจุดเด่นของความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการงานวิจัยป่าชายเลน นี้ไปสู่การเปิดบทบาทการวิจัยแนวหน้าด้านป่าชายเลนครั้งสำคัญของประเทศไทย

โครงการความร่วมมือการวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน มุ่งเน้นศึกษาชนิดพันธุ์พืชป่าชายเลน 15 ชนิด ได้แก่ 

  • ไม้ชายเลนหายากใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด
  1. พังกา-ถั่วขาว (Bruguiera hainesii) 
  2. ลำแพนหิน (Sonneratia griffithii) 
  3. หงอนไก่ใบเล็ก (Heritiera fomes) 
  4. แสมขน (Avicennia lanata) 
  5. หลุมพอทะเล (Intsia bijuga)
  •   ไม้ป่าชายเลนที่แท้จริง (true mangrove) 10 ชนิด
  1. ลำแพน (Sonneratia ovate) 
  2. โปรงขาว (Ceriops decandra) 
  3. โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) 
  4. โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) 
  5. ประสักแดง/พังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza) 
  6. ประสักขาว/พังกาหัวสุมดอกขาว (Bruguiera sexangula) 
  7. ถั่วขาว (Bruguiera cylindrica) 
  8. ถั่วดำ (Bruguiera parviflora) 
  9. โปรงแดง (Ceriops tagal) 
  10. โปรงหมู (Ceriops zippeliana)
แชร์หน้านี้:
หน้าแรก วิจัย “พันธุ์ไม้ป่าชายเลน” เสี่ยงสูญพันธุ์
บทความอื่นๆ