(2 พฤษภาคม 2567) ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหาร อว. โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. พร้อมด้วย ผู้บริหารหน่วยงานภายใต้กำกับ กระทรวง อว. ซึ่งในโอกาสนี้ ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร. จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ได้เข้าร่วมในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และถวายพวงมาลัยสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระสยามเทวมหามงกุฎวิทยามหาราช รัชกาลที่ 4 เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับการก้าวสู่ปีที่ 5 ภายใต้ชื่อกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (จากเดิม ใช้ชื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2545-วันที่ 2 พฤษภาคม 2562)
จากนั้น น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า 5 ปีของการก่อตั้งกระทรวง อว. นับเป็น 5 ปีของ “ปัญญา โอกาส อนาคต” ของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้งด้านการอุดมศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยตนได้วางนโยบาย 2 ด้าน คือ “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” และ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” พร้อมเดินหน้าปฏิรูปอุดมศึกษา โดยกำหนดเป้าหมายเน้นการสร้างคนสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการสร้างคนที่มีความรู้ที่ดี มีทักษะและสมรรถนะ รวมถึงมีคุณลักษณะที่ดี รวมทั้งสร้างกลไกและเครื่องมือในการปฏิรูปให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น การจัดทำระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติหรือธนาคารเครดิต การจัดทำแผนที่ทักษะเพื่อระบุทักษะที่สำคัญในการทำงานในสาขาอาชีพสมัยใหม่และเป็นไปตามความต้องการของประเทศ หรือ Skill Mapping พร้อมทั้งจัดทำใบรับรองผลการเรียนที่ระบุทักษะของนักศึกษาว่ามีทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานระดับใดบ้าง หรือ Skill Transcript เพื่อให้นักศึกษาและบัณฑิตสามารถนำไปใช้ในการทำงานหรือพัฒนาทักษะเพิ่มเติมตลอดจนการนำทักษะด้าน AI ที่เป็นทักษะที่สำคัญของโลกยุคปัจจุบันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS ปี 2567 หรือการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบการรับสมัครสอบกลาง ประจำปี 2567 ซึ่งถือเป็นประตูบานแรกในการก้าวสู่ระบบอุดมศึกษาของเยาวชนไทย ด้วยการสนับสนุนค่าสมัครสอบให้กับผู้เข้าสอบทุกคนฟรีในรอบแอดมิชชั่น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นครั้งแรก และจะพยายามปลดล็อคทุกอุปสรรคในการเข้าถึงอุดมศึกษา เพื่อเด็กไทยทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “อว. For EV” ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ให้เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นความหวังของประเทศไทย ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่กระทรวง อว. มี นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “อว.For PM 2.5” และ “อว. For AI” รวมถึงนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอวกาศของประเทศ เป็นต้น
“กระทรวง อว.ยังคงเดินหน้าปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง และจะทลายทุกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคของการปฏิรูปดังกล่าว ที่สำคัญในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ กระทรวง อว.จะจัดเสวนาพิเศษเนื่องในโอกาสการก่อตั้งกระทรวง อว. ครบรอบ 5 ปี เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลากหลายภาคส่วนว่ากว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาสังคมได้อะไรจากกระทรวง อว. และในอนาคตต้องการให้กระทรวง อว. ปรับตัวอย่างไรเพื่อนำประเทศไทยให้แข่งขันได้ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจและอยากร่วมให้ความคิดเห็นมารับฟังกันได้” น.ส.ศุภมาส กล่าว