หน้าแรก 7 หน่วยงาน ลงนาม MOU ร่วมพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค
7 หน่วยงาน ลงนาม MOU ร่วมพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค
20 พ.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 17 พฤษภาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมมือกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน โดยมีผู้บริหารและพนักงานเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ ห้องประชุม Auditorium เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สำนักงานใหญ่ วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยง ประสานงานกันเป็นเครือข่ายด้านการพัฒนานวัตกรรมการบินควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรระดับอุดมศึกษา หวังปั้นเป็นศูนย์กลางด้านการบินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Hub of Aviation) เพื่อสอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สอดรับกับนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้เน้นย้ำเรื่องการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) และศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO Hub) ของภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) และศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistic Hub) ได้อีกด้วย การร่วมมือกันครั้งนี้จะมีการพัฒนานวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง และจะมีการ Spill-over ออกมาในอุตสาหกรรมการบิน (Aviation) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub ที่มีนวัตกรรมที่ใช้ Local content ในประเทศ และสร้างผลกระทบ (Impact) สูงมาก โดย สอวช. บพข. และ บพค. จะทำงานร่วมกันผ่านโครงการ Project lead the way เพื่อพัฒนาวัตกรรม และพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงสองกลุ่ม คือ กลุ่มวิศวกร และกลุ่มที่ Spinoff ในรูปแบบบริษัท (Corporate) ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อผลิตเทคโนโลยีให้กับ บวท. และต่างประเทศ โดยเป้าหมายของ Aviation Hub จะต้องมีนวัตกรรมที่เป็นของคนไทย สร้างธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) และสร้างบุคลากรสมรรถนะสูงเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินต่อไป

ดร. วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า EECi อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหนึ่งใน โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 สำหรับการเข้าร่วมเป็นภาคีของบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรวิจัยของ สวทช. ได้เข้าร่วมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านการบิน สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและอุตสาหกรรม อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านการขยายผลงานวิจัย (Translational Research Infrastructure) ภายใน EECi เพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านการบิน ยกตัวอย่างเช่น Testbed สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่อยู่ภายในศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Sandbox) และพื้นที่ภายในกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ EECi ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านการบินให้รุดหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เป็นศูนย์กลางทางการบินและโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

ดร. ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรร่วมสร้างนวัตกรรมด้านการบิน เช่น นวัตกรรมการบริหารจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management Innovation) นวัตกรรมสำหรับการปฏิบัติการ ณ ท่าอากาศยาน (Airport Operations Innovation) นวัตกรรมอากาศยานซึ่งไม่มีคนขับ (Unmanned Aircraft Innovation) และนวัตกรรมการจัดการอากาศยานซึ่งไม่มีคนขับ (Unmanned Traffic Management Innovation) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ความสอดคล้องตามความต้องการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในพัฒนาบุคลากรมืออาชีพให้พร้อมปฏิบัติงานด้านการบินและงานที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต (Next Generation of Aviation Professional: NGAP) และการยกระดับความสามารถในกิจการบิน รวมทั้งรองรับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ยกระดับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง บพข. พร้อมที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดการในมิติที่สำคัญ เช่น Stakeholder engagement/ Empowerment, Risk and change management และการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดความสำเร็จตามระดับ Technology Readiness Level (TRL) ที่คาดหวัง และเกิดการต่อยอดต้นแบบนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ (Innovation Utilization) ในธุรกิจการบิน หรือการขยายผลผ่านการจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมการบินแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะและความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ร่วมโครงการ ทั้งภาคสถาบันอุดมศึกษา ภาควิชาการ ภาควิจัย และภาคเอกชน ผ่านการปฏิบัติจริง ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมการบินที่เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวว่า “การสานพลังความร่วมมือในการลงนาม MOU ครั้งนี้ นับว่าจะเป็นอีกก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมการบินของประเทศที่จะเป็นการยกระดับทักษะและสมรรถนะเฉพาะบุคคลให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการเดินอากาศ การจราจรทางอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรีอนระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะใหม่ (New Skillset) ความสามารถที่ตรงตามความต้องการของภาคผู้ใช้ (Demand-driven) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นทัดเทียมในระดับสากลได้ โดย บพค. จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านการบินมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงสนับสนุนการสร้างทักษะผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ให้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ บพค. มองว่าการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนสมรรถนะสูงให้มีทักษะใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นส่วนช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในอนาคต”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. มีความพร้อมในการขับเคลื่อนความร่วมมือว่าด้วยเรื่องการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน หรือ NGAP-Digital transformation เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบาย ส.อ.ท. ภายใต้ ONE FTI ที่จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ซึ่งประกอบไปด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 5 สภาอุตสาหกรรมภาค เพื่อให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ ส.อ.ท. ขับเคลื่อน คือ อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน ส.อ.ท. มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านการบิน จากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมสู่การขยายผลกลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ให้สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ด้าน Upskill และ Reskill เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน ส.อ.ท. มีแผนจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโต ผ่านกลไกการดำเนินงานของ Cluster of FTI Future Mobility-ONE (CFM-ONE) และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ EEC รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มส.อ.ท. อาทิ FTI Academy และสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ เพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มพูนทักษะที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ Future Skill กับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตลาดโลก

นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า สถาบันพร้อมให้ความร่วมมือและร่วมพัฒนาบุคลากรที่มีสมรรถนะสูงด้วยกลไกการพัฒนาและรับรองสมรรถนะของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการบินในมิติส่งเสริมสมรรถนะที่ทำให้การประกอบอาชีพก้าวสู่การแข่งขันของเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้าน Digital Skill ตามภารกิจหลักของสถาบัน โดยการรับรองทักษะที่เป็นสมรรถนะสูงสำหรับการเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการบินและงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Data Analytic, Data Science, Data Engineer เป็นต้น จะสามารถตอบโจทย์การเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Technology) ในอุตสาหกรรมการบินด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งส่งผลให้กิจการการบินมีผู้ปฏิบัติงานที่มีสมรรถนะสูง ขณะเดียวกันด้วยแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem Platform จะสามารถทำให้บุคลากรเข้าถึงการพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้นและได้รับการส่งเสริมในอาชีพจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ สามารถสั่งสมสมรรถนะด้วยระบบ Competency Credit Bank โดยการส่งเสริมให้มีการต่อยอดสู่การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในอาชีพที่มีสมรรถนะสูงของ สคช. อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคลากรด้านการบิน ตลอดจนสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ พัฒนาให้เกิดมหานครการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis) และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

แชร์หน้านี้: