ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้แทนกระทรวงฯ ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดย นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวง กษ. และอีก 8 หน่วยงาน
ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลด้านการเกษตรที่ต่อยอดมาจากฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ซึ่งเดิมมีหน่วยงานเพียง 3 หน่วยงานที่เริ่มดำเนินการในระยะต้น ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อเดิมของกระทรวง อว.) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (ชื่อเดิมของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์: สพร.)
การลงนามความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการร่วมสร้างให้มิติใหม่ให้วงการเกษตรของไทย เข้าสู่ Digital Thailand 4.0 โดยร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ด้วยมาตรฐานเดียวกันสู่รัฐบาลดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มุ่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตรด้านฐานข้อมูลด้านเกษตรกรอัจฉริยะ โดยในส่วนของอว. มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) เข้าร่วมโดยร่วมเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งให้องค์ความรู้ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผ่านโครงสร้างมาตรฐาน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวนี้เนคเทค-สวทช. ได้พัฒนาและงานมาอย่างต่อเนื่องในโครงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากฐานข้อมูลหลายแหล่งได้
สำหรับฐานข้อมูลด้านการเกษตรที่ดำเนินการร่วมกันภายใต้บันทึกความร่วมมือฯ นี้ จะมีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งด้านเกษตรกรและด้านสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ทั้งในด้านการวางแผนเชิงนโยบายของภาครัฐ การวางแผนการผลิตทางการเกษตรของภาคเอกชน รวมไปถึงเกษตรกรยังสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อวางแผนการเพาะปลูกและติดตามข้อมูลราคาสินค้าทางการเกษตรได้อีกด้วย ฐานข้อมูลนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านการให้บริการข้อมูลแก่ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ฐานข้อมูลดังกล่าวยังมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมการวิจัย โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytic) และการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้เกิดการวางแผนและการตัดสินใจที่แม่นยำมากขึ้นอีกด้วย