หน้าแรก สวทช. โดย นาโนเทค ผลักดันนวัตกรรมสารสกัดกระชายดำสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
สวทช. โดย นาโนเทค ผลักดันนวัตกรรมสารสกัดกระชายดำสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
29 ส.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ต่อยอด “สารสกัดกระชายดำ” สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมจับมือ SNPS หรือบริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)

ลงนามอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมกลุ่ม Active ingredients ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง-เสริมอาหาร รับความต้องการตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามของโลก หนุนโมเดลเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยกลไก S&T for Sustainable Thailand ของ สวทช.

ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่สังคมอายุยืน (Longevity Society) อย่างเต็มรูปแบบ อัตราการเกิดใหม่ลดลงประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการคาดการณ์ในปี 2040 คนไทยอายุ 70+ จะเพิ่มขึ้นเป็น 11.6 ล้านคน จาก 5.4 ล้านคนในปี 2563  และคาดว่าในปี 2593 ค่าเฉลี่ยการมีชีวิตอยู่ของคนไทยจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 90 ปี ซึ่งการที่มนุษย์เรามีอายุยืนยาวขึ้นเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการแพทย์ อาหาร และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในอดีต  ทั้งนี้ แม้คนไทยจะอายุยืนขึ้น แต่การที่ไทยเป็นสังคมสูงวัยด้วย ทำให้วัยแรงงานมีจำนวนลดลง มีผลิตภาพแรงงานต่ำลง ในขณะเดียวกันสังคมอายุยืนก็นำมาซึ่งโอกาส และความท้าทายใหม่ๆ มากมายทั้งภาคธุรกิจ สังคม และบริการ อาทิ การแพทย์/สุขภาพ, อาหาร/เครื่องดื่ม, ที่พักอาศัย และท่องเที่ยว/ไลฟ์สไตล์ เป็นต้น

“สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญ นำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด รับกับวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry ที่กระทรวง อว. โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. มีนโยบายที่สอดรับวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นงานที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ เช่น นโยบาย อว. For เซมิคอนดักเตอร์ อว. For EV อว. For AI เป็นต้น โดยมีแผนพัฒนาคนทักษะสูงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกันนี้ สวทช. เองมีการผลักดันแผนงาน S&T for Sustainable Thailand โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีกลุ่มเป้าหมายของ สวทช. ไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางทั้งในภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน รวมถึง Age Tech เช่นกัน” ดร. อุรชากล่าว

Age Tech เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ตลาด Age Tech มีแนวโน้มจะเติบโตรวดเร็วในระยะสั้นถึงกลางทำให้ได้รับการสนใจจากนักลงทุนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการชะลอวัย (Anti-Aging) และการฟื้นฟู (Rejuvenation) กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลกสอดรับกับสังคมโลกที่เข้าสู่ยุคผู้สูงวัย ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่สามารถทำให้มีรูปร่าง ผิวพรรณภายนอกที่ดูดีขึ้น แต่ยังสามารถส่งเสริมสุขภาพ และอาจเพิ่มช่วงเวลาที่มีสุขภาพดี (Healthspan) และช่วงอายุขัย (Lifespan) ได้อีกด้วย ปัจจุบัน เทคโนโลยีดังกล่าว ได้ถูกนำมาใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, หัตถการเพื่อความงาม, รวมถึงผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำสารสกัดสมุนไพรไทยมาใช้เป็นสารสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

สวทช. มีการส่งเสริม สนับสนุนการใช้ วทน. มาประยุกต์ใช้ในการวิจัยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของสารสกัดสมุนไพรไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้มีการผลักดันแผนงาน S&T for Sustainable Thailand ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและคลอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการผลิตสารสกัดเพิ่มมูลค่าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามอย่างยั่งยืน เช่น การต่อยอดสารสกัดกระชายดำนี้, นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน รวมไปถึง Digital Healthcare Platform, แพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารของคนพิการและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ สวทช. โดย นาโนเทคเองก็มีกลไกการขับเคลื่อนเพื่อการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐาน (R&D & infrastructure utilization) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้บทบาท solution partner อีกด้วย

ดร. อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า นวัตกรรมการผลิตสารสกัดเพิ่มมูลค่าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามอย่างยั่งยืน เป็น 1 ใน BCG Implementation ของ สวทช. เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามอย่างยั่งยืน เพิ่มมูลค่าสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรโดยมีสมุนไพรนำร่อง 3 ชนิดได้แก่ กระชายดำ บัวบก และกะเพรา ตอบโจทย์เกษตรกรผู้ปลูก เอกชนผู้ผลิต-จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และผลักดันให้เกิด “Hub of Thai Herbal Extract” ในการส่งเสริมพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและคว้าโอกาสตลาดสมุนไพรให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

กระชายดำ (Kaempferia parviflora) ถูกนำมาเป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะทำให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อย และอาการเหนื่อยล้า และยังมีฤทธิ์ทางเภสัชกรรมมากมาย เช่น ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผลในกระเพาะอาหาร ขยายหลอดเลือดและต้านจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร และยังเพิ่มการไหลเวียนในโลหิตได้ด้วย การเติบโตจากแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงนำมาสู่แนวคิดในการวิจัยพัฒนาสารสกัดกระชายดำมาตรฐาน (Standardized Extract) รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับสุขภาพ เพื่อการยับยั้งกระบวนการแก่ของเซลล์ (anti-aging) เพื่อการผลักดันเป็น Thailand herbal champion อย่างเป็นรูปธรรม

ดร. อุดมกล่าวว่า นาโนเทค สวทช. ดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสารสกัดกระชายดำมา 7-8 ปี โดยพัฒนากระบวนการสกัดกระชายดำเพื่อให้ได้สารสกัดกระชายดำ ในรูปสารสำคัญที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ พร้อมวิจัยร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการศึกษาความปลอดภัยและความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังของสารสกัดกระชายดำในสัตว์ทดลอง รวมถึงศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดกระชายดำในแง่ของการชะลอวัยในเซลล์เพาะเลี้ยงและสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในการนำสารสกัดกระชายดำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาเพื่อสุขภาพและชะลอวัยอีกด้วย และทดสอบขยายขนาดการผลิตสารสกัดกระชายดำมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย โครงการดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติและบริษัทสเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ในการผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพด้านชะลอวัยจากสารสกัดกระชายดำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขอรับอนุญาตใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาด้านกระบวนการเตรียมสารสกัดมาตรฐานกระชายดำจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ภญ. ดร. พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้วิจัย และส่งมอบสารออกฤทธิ์มาตรฐานจากธรรมชาติและสมุนไพรไทย (API:Active Phyto-Innovention) กว่า 24 ปีสำหรับอุตสาหกรรมเวชสำอาง อาหารเพื่อสุขภาพ, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพผิวพรรณ และเป็นผู้นำในการสกัดสารสกัดมาตรฐานสมุนไพรไทยที่มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิต ทำให้สามารถกำหนดปริมาณสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ให้มีความเสถียร ทำให้วัตถุดิบจาก SNPS มีคุณภาพระดับสากล สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรมหลากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร และ น้ำมันสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรด้วยเครื่องมืออันทันสมัย และการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด สร้างมาจากพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันอยู่เสมอ

 “ครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จจากการร่วมมือของเรากับศูนย์นาโนเทค สวทช. ในการพัฒนา “B GOLDTM” สารสกัดกระชายดำบริสุทธิ์ที่มีปริมาณฟลาโวนอยด์สูงสุดในรูปแบบอนุภาคขนาดนาโน กระบวนการสกัดแบบพิเศษโดยใช้เทคโนโลยีนาโน เพื่อช่วยคงคุณค่าของสารออกฤทธิ์สำคัญกลุ่มฟลาโวนอยด์ไว้ได้อย่างครบถ้วน ด้วยเทคโนโลยีนาโนขั้นสูงทำให้ B GOLDTM มีความเสถียรสูง ทำให้สามารถเก็บรักษาได้นาน และยังผ่านการทดสอบทางคลินิกทางด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากศูนย์นาโนเทค ทำให้สามารถมั่นใจได้ในความปลอดภัยและคุณภาพ รวมถึงยังมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมูลค่าของกระชายดำไทย พร้อมทั้งส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของประเทศอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ ภญ. ดร. พรรณวิภา เผย

ด้าน ดร. ธีรญา กฤษฎาพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า B GOLDTM นับเป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรมูลค่าสูง ที่ส่งผลถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และในปัจจุบัน SNPS อยู่ระหว่างลงนามสัญญาทางการค้ากับบริษัทชั้นนำระดับโลกในหลากหลายประเทศเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสารสกัดกระชายของไทยสู่ผู้ผลิตเครื่องสำอางและเวชสำอาง อาทิ ประเทศฝรั่งเศส, เกาหลี, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, สหราชอาณาจักร, เยอรมัน และนิวซีแลนด์

“การขยายตลาด B GOLDTM ไปในต่างประเทศ ทำให้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากกระชายดำ ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรไทย โดยนักวิจัยไทย ถือว่า สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ BCG ของประเทศ ที่เน้นถึงการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติคุณภาพสูงดร. ธีรญาย้ำ

 

 

29 ส.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: