หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 3 ฉ.10 – “อัญชลี มโนนุกุล” โรลโมเดล “วิจัยขึ้นห้าง ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 3 ฉ.10 – “อัญชลี มโนนุกุล” โรลโมเดล “วิจัยขึ้นห้าง ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
15 ม.ค. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

“อัญชลี มโนนุกุล” โรลโมเดล “วิจัยขึ้นห้าง” ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นงานวิจัยที่ “ขึ้นห้าง” และสามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคของการกำหนดเป้าหมายประเทศเพื่อไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ยิ่งต้องเฟ้นหางานวิจัยที่สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน

“ดร.อัญชลี มโนนุกุล” ได้พิสูจน์ให้เห็นฝีมือนักวิจัยไทย ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจยุคไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ซึ่งขณะนี้แวดวงวิจัยในระดับสากลรู้จักเธอดี ในฐานะนักวิจัยด้านวัสดุ ที่มีผลงานตอบโจทย์ด้านอุตสาหกรรมอย่างดีเยี่ยม ผลงานวิจัยที่เธอคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถผลักดันให้เกิดการยอมรับและนำไปใช้จริงๆ ในระดับอุตสาหกรรม

@ รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “สร้างขีดความสามารถประเทศ”

ล่าสุด ในโอกาสที่โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ครบรอบ 15 ปี บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L’Oréal Woman Scientist Crystal Award” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อมอบให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่น ที่เคยได้รับทุนวิจัยจากทางโครงการฯ

และแน่นอน มีชื่อของ ดร.อัญชลี มโนนุกุล ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็น 1 ใน 2 คน (จากผู้ที่เคยได้รับรางวัลทั้งหมด 61 คน) ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ขึ้นแท่น “งานวิจัยขึ้นห้าง” หรือเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของงานวิจัยยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง

โดยคณะกรรมการพิจารณาจากผลงานวิจัยของเธอเอง ซึ่งเคยได้รับทุนวิจัยจาก ลอรีอัลมาแล้วเมื่อปี 2551 กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ด้วยการขึ้นรูปโลหะผง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะของไทย” โดยงานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิตของประเทศไทย

ตัวอย่างผลงานที่ดำเนินการสำเร็จและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม คือ ชุดโครงการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียม ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้แล้ว

“งานวิจัยของพี่ คณะกรรมการเขามองว่าพี่เป็นตัวแทนของไทยแลนด์ 4.0 ที่ชัดมาก รางวัลลอรีอัลต้องมากับความเป็นวิชาการระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ของพี่งานวิจัยสามารถเอาไปใช้จริงได้ด้วย ซึ่งก็ตอบความต้องการของไทยแลนด์ 4.0 อยู่ในตอนนี้”

@ จาก “นักเรียนทุน” สู่ความหวัง “นักลงทุน”

หากย้อนถึงที่มาของความสำเร็จในเส้นทางวิจัยด้านวัสดุของ ดร.อัญชลี หรือ “พี่หลี” เธอเป็นนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทุนไปเรียนประเทศอังกฤษตั้งแต่ปริญญาตรี จนกระทั่งปี 2542 จบการศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกลเน้นกลศาสตร์ของแข็ง จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และทำวิจัยหลังปริญญาเอกอีก 2 ปี ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

จากนั้นก็เข้าทำงานที่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สวทช. ตามเงื่อนไขทุน โดยทำหน้าที่ดูแลส่วนงานการฉีดขึ้นรูปโลหะผง ซึ่งขณะนั้นเพิ่งได้รับมาจากรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนความเชี่ยวชาญที่เรียนมานั้น เธอเล่าแบบตรงประเด็น และเป็นกันเอง ว่า

“พี่เรียนการพัฒนาแบบจำลองวัสดุกลุ่มไทเทเนียมกับนิกเกิลซุปเปอร์อัลลอยด์มา ซึ่งเป็นโลหะผสมที่ใช้ในเครื่องยนต์ไอพ่นของโรลส์รอยซ์ แต่พอกลับมาเมืองไทยเมื่อ 17 ปีที่แล้วไม่มีใครสนใจ อุตสาหกรรมการบินเพิ่งมาได้รับการสนใจมากขึ้นช่วงระยะหลัง ความต้องการเมื่อ 15-20 ปี เขายังไม่ได้สนใจมุมแบบจำลองวัสดุ เพราะฐานเทคโนโลยีไม่เหมือนกัน นักวิจัยจำนวนมากที่ไปเรียนเอกกลับมาแล้ว มักจะเกิดช่องว่างถ้าไปยึดติดกับสิ่งที่เรียนมา มีคนจำนวนน้อยมากที่จะได้ทำตรงกับสิ่งที่เรียนมา”

ถึงแม้ “ดร.อัญชลี” จะไม่ได้ทำวิจัยแบบจำลองวัสดุที่ร่ำเรียนมา แต่ฐานความเชี่ยวชาญด้านวัสดุและประสบการณ์ในการทำงานกับภาคเอกชนที่อังกฤษและความมุ่งมั่น ทำให้เธอสร้างงานวิจัยด้านการขึ้นรูปโลหะผงกับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม

ชิ้นงานเล็กๆ รูปร่างซับซ้อน ตั้งแต่ตัวเรือน หน้าปัด สายรัด เกิดจากการฉีดโลหะผง และเป็นชิ้นส่วนประกอบสำคัญของนาฬิกาโลหะที่มีมูลค่าสูง ซึ่งสามารถเปลี่ยนจากกระบวนการผลิตที่นำโลหะก้อนใหญ่มาสกัด “กลึง-ไส-เจาะ-เจีย” เพื่อขึ้นรูปวัสดุ มาเป็นการ “ฉีด” ขึ้นรูปวัสดุโลหะผงเป็นชิ้นงานขึ้นมาแทน หนึ่งในผลงานที่เริ่มทำกับบริษัทแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น ที่มีโรงงานที่ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ และโคลัมเบีย ร่วมวิจัยกับ ดร.อัญชลี

“ในต่างประเทศเขาก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้กันปกติ ตอนนี้เหล็กดัดฟันทั่วไป (ที่ไม่ใช่ของจีน) ใช้วิธีฉีดโลหะผงกันหมดแล้ว แต่ก่อนใช้วิธีหล่อขี้ผึ้ง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทำกันแล้วเนื่องจากได้เหล็กดัดฟันคุณภาพดีกว่าและถูกกว่า” ดร.อัญชลี อธิบายถึงเทคโนโลยีฉีดขึ้นรูปโลหะผง พร้อมกับบอกว่า ตอนปี 2547 ตัวเทคโนโลยีฉีดผงในเมืองไทย ตอนนั้นมีแค่โรงเดียวในไทย แต่ก็มีคนสนใจเพราะเป็นเทคโนโลยีการขึ้นรูปแบบใหม่ที่จะมาทดแทนกระบวนการขึ้นรูปแบบดั้งเดิมเช่น การสกัดหรือการหล่อขี้ผึ้งได้

“บริษัทนี้สามารถฉีดขึ้นรูปสแตนเลสและเหล็กเครื่องมือได้อยู่แล้ว เขาก็อยากฉีดไทเทเนียมได้ ณ เวลานั้น ปี 2547 ฉีดไทเทเนียมในเอเชียมีคนทำได้แค่บริษัทเดียว เขาจึงมาร่วมวิจัยกับเรา จริงๆ แล้ว เขาเคยให้อาจารย์ที่ญี่ปุ่นทำแล้ว แต่ว่าผลิตขายไม่ได้ เขาก็มาร่วมวิจัยกับเราอีกรอบ เราทำการทดลองในห้องปฏิบัติการจนได้ดีมาก จึงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทผลิตระดับอุตสาหกรรม เมื่อลองผลิตที่บริษัทในระยะแรกพบว่ามีปัญหาความสามารถในการรับแรงดึง และความยืดหยุ่นนิดหน่อย เราก็ไปช่วยดู นำกลับมาเช็ก ว่ามีปัญหาอะไร เราไปเดินดูที่โรงงานว่ามาจากตรงไหน แล้วเสนอวิธีแก้ โรงงานจึงผลิตได้ผ่านมาตรฐานญี่ปุ่น และเป็นบริษัทที่สองในเอเชียที่สามารถฉีดขึ้นรูปไทเทเนียมแบบผงได้”

นอกจากนี้ ดร.อัญชลี ยังมีผลงานชุดโครงการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม สามารถผลิตและจำหน่ายโฟมไทเทเนียมเชิงพาณิชย์ได้ และชุดโครงการผลกระทบของบรรยากาศการเผาซินเทอร์ต่อสมบัติของชิ้นงานเหล็กกล้าไร้สนิม ที่ทำให้ชิ้นงานมีความต้านทานการกัดกร่อนเพิ่มขึ้น 10 เท่า

“อย่างโฟมไทเทเนียมอยู่ในสินค้าปลายทางคือ เครื่องทำน้ำด่าง ที่มีขายตามเคเบิ้ลทีวี หลักการทำน้ำด่างคือ มีน้ำแล้วผ่านกระแสไฟเข้าไปจะเกิดการแยกขั้ว และสามารถคุมค่าพีเอชของน้ำได้ โฟมไทเทเนียมจะใช้เป็นขั้วไฟฟ้าที่ต้องการความต้านทานในการกัดกร่อนสูง ต้องการพื้นที่ผิวต่อปริมาตรสูง เพราะมันต้องสัมผัสน้ำ ยิ่งสัมผัสมากยิ่งดี” พี่หลี อธิบายถึงตัวอย่างการนำโฟมไทเทเนียมไปใช้งาน ก่อนจะเล่าถึง การทำงานวิจัยที่น่าสนใจกับภาคเอกชนเป็นบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งผลงานวิจัยสามารถขายได้ในเชิงพาณิชย์แล้ว

“บริษัทญี่ปุ่นบริษัทที่สองตอนนี้เป็นลูกค้าหลักของเรา เขาเช่าห้องวิจัยอยู่ที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย บริษัทนี้ร่วมวิจัยไทเทเนียมโฟมกับเอ็มเทค จริงๆ แล้วเขาเป็นบริษัทฉีดโลหะผงเหมือนกัน บริษัทเขาก็อยากได้ไทเทเนียม เป็นชิ้นงานที่มีรูพรุนเยอะเป็นโครงร่างโฟม ก็มีโครงการ lab scale ต่อด้วยโครงการ pilot scale ซึ่งตอนนี้โรงงานก็ไปผลิตขายในเชิงพาณิชย์แล้ว

“บริษัทนี้มีความสัมพันธ์ที่พิเศษมากกับเอ็มเทค ความพิเศษคือบริษัทเขาส่งคนของบริษัทมาอยู่กับเรา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการร่วมวิจัย ที่ไม่ได้ร่วมวิจัยแค่ร่วมเงิน เขามาช่วยทำแล็บด้วย เพราะบางอย่างเขาก็ถนัดกว่าเรา เขาก็มาช่วยแบ่งเบาภาระของเราด้วย ตอนที่ทำ pilot scale เราก็ไปทำที่โรงงานเขา มีน้องที่เอ็มเทคช่วยม็อคอัพ (Mockup) เครื่องแล้วเราก็เข้าไปทำ พอทุกอย่างคงที่ ตรวจสอบได้ เขาก็เอาไอเดียไปทำเครื่องแบบได้มาตรฐานความปลอดภัยและสวยงามจากญี่ปุ่น แล้วก็มาตั้งที่โรงงานแถวนวนคร อันนี้เป็นโครงการที่ได้รางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อต้นปี 60 ด้วย บริษัทนี้มีโครงการต่อเนื่องอีกหลายโครงการกับเรา มีให้ยืมเครื่องจักรที่เอ็มเทคไม่มี มาติดตั้งที่แล็บเพื่องานวิจัย และบริษัทสนับสนุนนักวิจัยให้ตีพิมพ์เผยแพร่องค์ความรู้ในส่วนที่ไม่เป็นความลับ”

เชื่อว่ารางวัลเป็นกำลังใจในการทำงานของคนทุกคน แต่สิ่งที่น่าจะมีคุณค่ามากกว่ารางวัลคือประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่ง ดร.อัญชลี เห็นคุณค่าจากองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ เสมอ

“พี่จะบอกน้องนักวิจัยใหม่ๆ เสมอว่า การได้เงินวิจัยจากเอกชนว่ายากแล้วนะ การได้ทุนวิจัยซ้ำจากบริษัทเดิม ยากยิ่งกว่า เพราะการจะเดินเข้าไปแล้วไปบอกว่าจบจากเมืองนอกเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ไปคุยกับบริษัทให้เขาจ่ายเงินให้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าเอกชนจะได้สนับสนุนจากองค์กรรัฐหลายอย่าง เขาก็ไม่จำเป็นต้องให้เรานะ เพราะเดี๋ยวนี้มีอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยเยอะมากในประเทศไทย บริษัทมีตัวเลือกมาก แต่เราก็ต้องพยายาม พี่เชื่อว่านักวิจัยทุกคนอยากให้งานตัวเองไปถึงผู้ใช้ พี่ไม่คิดว่าจะมีนักวิจัยที่ไม่อยากให้งานไปถึงผู้ใช้ เพียงแต่ว่าเราต้องพร้อมที่จะรับสภาพว่าทำไปแล้วบางส่วนอาจจะไม่ถึง”

@ ตั้งเป้าพัฒนา “การฉีดขึ้นรูปโลหะผง” สู่ 3D printing

สำหรับงานที่ท้าทายความสามารถของ “ดร.อัญชลี” ในอนาคต เธอยังมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และทำให้เทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปโลหะผง แพร่หลายขึ้น และพัฒนาการขึ้นรูปผงอื่นๆ เช่น 3D printing

“ในอดีตเราไม่ได้เน้น 3D printing เราเน้นการฉีดขึ้นรูปผงเพราะมีอุตสาหกรรมรองรับ แต่องค์ความรู้การฉีดขึ้นรูปผงทั้งหมด สามารถนำมาต่อยอดงาน 3D printing ของโลหะก็เป็นงานจากผง สิ่งที่เราทำมาแล้วคือการฉีดขึ้นรูปผง เราจะยังทำต่อไปเพราะมีอุตสาหกรรมสนับสนุน แต่อุตสาหกรรมของเราก็เริ่มขยับไปที่ 3D printing โดยเฉพาะสำหรับงานอากาศยาน ตอนนี้มีคนกลับมาตามหาคนเชี่ยวชาญด้านนิกเกิลและไทเทเนียมซุปเปอร์อัลลอยด์ ช้าไป 19 ปี ก็กลับมาใหม่ ก็ยังโอเค พี่มองว่าพี่หยุดไปนาน เทคโนโลยีมันไปอีกไกล ต้องมาศึกษาเพิ่มเติมใหม่อยู่ดี แต่พี่อาจจะมีฐานบ้างเพราะพี่เข้าใจวิธีทำงานของเครื่องยนต์ไอพ่น (jet engine) ทั้งหมด เพราะโรลส์รอยซ์ อธิบายให้พี่ฟัง พี่จะมีฐานกลุ่มนั้น หลายคนไม่ได้เข้าใจวิธีการทำงานของเครื่องยนต์ไอพ่นด้วยซ้ำไป แต่ทำชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ไอพ่นเราก็มองบวกไว้ ส่วนอีกตลาดที่น่าสนใจคือ “เครื่องประดับ” แต่เนื่องจากปัจจุบันเครื่องประดับไม่อยู่ในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งเน้น แต่เครื่องประดับจำพวก ทอง เงิน แพลทินัม ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศสูงมาก ก็เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจในการศึกษาวิจัยในอนาคต”

สุดท้ายงานวิจัยที่ทำในอนาคต มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทยแบบใดนั้น “ดร.อัญชลี” มีเป้าหมายและคำถามที่ถามตัวเองเสมอว่า ทำวิจัยแล้วปลายทางคืออะไร? ซึ่งฝากไว้อย่างน่าคิด

“อันนี้คนชอบถามว่าเราได้อะไร เพราะดูเหมือนเราทำให้บริษัทเอกชน ประเทศชาติได้อะไร ในเบื้องต้นปัจจุบันยังไม่มีโรงงานไทยที่ตั้งเทคโนโลยีนี้ ซึ่งอันนี้เป็นความหวังหนึ่งที่เราอยากทำ อยากให้มีโรงงานที่ตั้งเทคโนโลยีนี้ในไทย ใช้เทคโนโลยีฉีดขึ้นรูปผงโลหะจากเอ็มเทค แล้วก็ผลิตชิ้นงานขายได้ เพราะว่าตอนนี้โรงงานที่ทำกับเรา เขาเป็นโรงงานฉีดขึ้นรูปโลหะผงอยู่แล้วมีเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ เขาให้เราทำวิจัยเพื่อเพิ่มชนิดของโลหะที่เขาจะผลิตได้ แต่เราอยากให้มีโรงงานที่เอ็มเทคไปช่วยตั้ง เพื่อจะได้ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศไทย ตอบโจทย์สิ่งที่ประเทศชาติและประชาชนมอบหมายและหวังพึ่งความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรา”

15 ม.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: