หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.11 – รมว.วิทย์ เยี่ยม สวทช. พร้อมให้นโยบายเน้นงานวิจัยตอบโจทย์รัฐบาลสร้างอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง
จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.11 – รมว.วิทย์ เยี่ยม สวทช. พร้อมให้นโยบายเน้นงานวิจัยตอบโจทย์รัฐบาลสร้างอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง
31 ม.ค. 2560
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

alt

รมว.วิทย์ เยี่ยม สวทช.

พร้อมให้นโยบายเน้นงานวิจัยตอบโจทย์รัฐบาลสร้างอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง

alt

11 มกราคม 2560 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และคณะ เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมให้นโยบายเน้นงานวิจัยตอบโจทย์รัฐบาล สนับสนุนนำการวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อน Thailand 4.0 สร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันในเวทีระดับโลก  โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าว นโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งเป้าหมายที่จะนำความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ควรที่จะต่อยอดนำงานวิจัยและพัฒนาไปใช้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ อีกทั้งให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเป็นหลัก สิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนคือ การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนาโดยการบูรณาการด้านวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงฯ จะเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ นอกจากนั้นแล้วมีนโยบายสนับสนุนให้ สวทช. มีส่วนช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เยาวชนมีความสนใจวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นรากฐานในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนและการเติบโตของประเทศ

alt alt

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมของประเทศ สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของการนำผลงานวิจัยไปใช้และทำงานร่วมกันในภาคเอกชนคือ บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด เริ่มต้นทำธุรกิจอาหารสัตว์ ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ร่วมวิจัยและพัฒนาโดยใช้ความรู้จากศูนย์พันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เข้าไปพัฒนาโดยใช้จุลินทรีย์ในการต่อยอดอาหารสัตว์ และพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เกิดการต่อยอดลงทุนเปิดบริษัทใหม่ด้านโปรไบโอติก 

โดยในปัจจุบันการดำเนินการได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านชีววิทยาพัฒนาด้านอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับธนาคารกรุงไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัปและเอสเอ็มอี โดยมีการตั้งกองทุนจำนวน 1,126 ล้านบาท ส่วนของการบริหารจัดการนั้นจะมีกลไกในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป  ที่ผ่านมาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การวิจัยเครื่องช่วยฟังจากที่ซื้อจากต่างประเทศราคา 13,000 บาท เมื่อนำงานวิจัยไปใช้ในการผลิตราคาลดลงเหลือ 6,000 บาท ซึ่งเครื่องนี้ได้นำขึ้นบัญชีนวัตกรรมเพื่อให้ภาครัฐ เช่น สปสช. ซื้อและนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้พิการทางการได้ยิน  

สำหรับด้านการเกษตร สวทช. พัฒนาพันธุ์ข้าวธัญสิริน หรือที่เรียกว่า “กข.6 ต้านทานโรคไหม้” ด้วยการปรับปรุงพันธุ์ให้ลำต้นแข็งแรง คุณภาพดีกว่าข้าว กข. 6 พันธุ์ปกติ หุงแล้วหอมนุ่ม เมื่อปี 2557-2558 มีเกษตรกรมากกว่า 1,700 ครัวเรือน นำไปปลูกในพื้นที่กว่า 6,000 ไร่  และมีผลผลิตมากกว่า 45,000 ตันแล้ว สร้างรายได้ให้ชุมชนปีละ 1,000 ล้านบาทต่อไป นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ พันธุ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ทนน้ำท่วมแบบมิดต้นข้าวได้นาน 2-3 สัปดาห์  ให้ผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2557-2558 เกษตรกรกว่า 500 ครัวเรือน นำไปปลูกในพื้นที่ 4,000 ไร่ ผลผลิตกว่า 29,000 ตัน สร้างรายได้มากกว่า 700 ล้านบาท เป็นต้น

alt alt

ส่วนของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) นั้น จะมีการนำรวบรวมองค์ความรู้ที่มีในหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัยไปพัฒนาภาคการเกษตร ที่ผ่านมาได้นำเทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์ เช่น ราบิวเวอเรีย ไปใช้ทดแทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช เทคโนโลยีการแปรรูป การปรับปรุงดิน รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร อีกทั้งมีการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยกลไลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้ใช้ประโยชน์ต่อชุมชนสูงสุด และสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. สนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์ ทดสอบ และมาตรฐานทั้งในเรื่องของงานวิจัย พัฒนา และการทดสอบทั้งในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของประเทศก้าวสู่ระดับนานาชาติสร้างรายได้และส่งเสริมให้ประเทศแข่งขันในระดับโลกได้

 

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC), โรงเรือนทดลองมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ, โดรน สำหรับการฉีดพ่นยาและปุ๋ยในพื้นที่เกษตร เพื่อทดแทนแรงงานคนและประหยัดเวลา, หุ่นยนต์เกษตร (FarmBot) ทางเลือกของเกษตรกรรุ่นใหม่ในยุคที่แรงงานขาดแคลนและประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย เรื่องไม่เกี่ยงเวลาทำงาน ทำงานได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา ทั้งระบบอัตโนมัติและแบบควบคุม, Netpie, สถาบันเทคโนโลยีคนพิการและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชมบริษัท มิตรผลวิจัยอ้อยและน้ำตาล จำกัด และบ้านประหยัดพลังงานบริษัท เอสซีจี ซึ่งเป็นหนึ่งในประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจนร่วมกิจกรรมตะลุยวันเด็ก บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร

 

 

31 ม.ค. 2560
0
แชร์หน้านี้: