ภกญ.ดร.จิตติมา พิริยะพงศา
เภสัชกรหญิง ผู้ผันตัวสู่การเป็นนักวิจัยด้านชีวสารสนเทศ จนมีผลงานได้รับรางวัลมากมาย
จากคำนำหน้าด้านสาขาวิชาชีพที่ใช้คำว่า “เภสัชกรหญิง” แต่ชีวิตต้องพลิกผันเมื่อค้นพบตัวเองว่ามีความรักและชอบด้านงานวิจัย จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางวิชาชีพมาเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยเต็มตัว จนผลงานวิจัยเด่นด้านชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่ “รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น” ปี 2558 หรือ รางวัล 2015 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักพิมพ์ Elsevier ผู้จัดทำฐานข้อมูลวารสารวิชาการนานาชาติ Scopus ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) และรางวัลจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น
นักวิจัยที่เราจะมาพูดคุยในจดหมายข่าว สวทช. ฉบับนี้ ก็คือ ภกญ.ดร.จิตติมา พิริยะพงศา หรือ ดร.จิง นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการชีวสถิติและสารสนเทศ (BSI) หน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม (GTU) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช.
ถาม : อยากทราบเหตุผลที่ ดร.จิง เปลี่ยนเส้นทางวิชาชีพจากเภสัชกรมาเป็นนักวิจัยด้านชีวสารสนเทศและมาทำงานที่ สวทช.ได้อย่างไรคะ
ตอบ : แรกเริ่มเลยจิงเรียนจบปริญญาตรีที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ และในสายทางการแพทย์พอจบแล้วต้องมีการทำงานใช้ทุน ตอนนั้นได้ไปทำงานใช้ทุนที่สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ในตำแหน่งเป็นนักวิจัย ซึ่งพอได้ทำงานที่นี่แล้วได้สัมผัสว่า งานนักวิจัยเป็นอย่างไร ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าเป็นงานที่เหมาะกับเรา เพราะเป็นงานที่มีอิสระ และเราสามารถบริหารจัดการกับโครงการของเรา จัดการเวลาของเราได้ หลังจากทำงานได้สองปีก็เริ่มอยากเรียนต่อ ซึ่งตอนนั้น จิงได้ทุนขององค์การเภสัชกรรมไปเรียนต่อแล้ว แต่ก็ลองศึกษารายละเอียดทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย โดยพยายามหาทุนที่จบกลับมาได้ทำงานเป็นนักวิจัย ก็เห็นว่ามีที่ สวทช. ที่จะได้ทำงานเป็นนักวิจัย
ตอนนั้น สวทช. เปิดให้ทุนสาขาหนึ่งคือ ชีวสารสนเทศ ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นสาขาที่แทบไม่มีใครรู้จักเลย ยังไม่มีใครเรียนจบมาทางด้านนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะถ้าเรียนจบกลับมาก็น่าจะทำประโยชน์อะไรได้เยอะ แต่เราก็ต้องเปลี่ยนสายการเรียนไปเลย ต้องไปเรียนด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มอีก เนื่องจากว่าชีวสารสนเทศเป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์สองสาขา คือ คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา เป็นการนำความรู้ทางคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้กับงานวิจัยทางด้านชีววิทยา ซึ่งก็มีลักษณะงานหลากหลาย ทั้งในด้านการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ คำนวณ ประมวลผลข้อมูล และพัฒนาเครื่องมือทางคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยทำนายแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นก่อนการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ หรือช่วยให้งานวิจัยก้าวหน้าได้เร็วขึ้น เราคิดว่าเป็นสาขาที่น่าสนใจ และถ้าเรามีความพยายามมากพอ เราก็น่าจะเรียนได้ ดังนั้นจึงได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ Georgia Institute of Technology ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อเรียนจบก็กลับมาใช้ทุนที่ BIOTECค่ะ และเลือกทำงานที่ห้องปฏิบัติการชีวสถิติและสารสนเทศ (BSI) ซึ่งเป็นแล็บ Bioinformatics โดยตรง นับตั้งแต่วันที่เริ่มงานจนถึงวันนี้ก็เจ็ดปีกว่าแล้วค่ะ
ถาม : งานวิจัยที่ได้รับรางวัลนี้เป็นเรื่องกี่ยวกับอะไรคะ
ตอบ : เป็นงานวิจัยเรื่อง “การใช้ชีวสารสนเทศในการศึกษากลไกการทำงานของไมโครอาร์เอ็นเอและโรคในมนุษย์” (Application of bioinformatics for studying microRNA gene regulation and human diseases) ค่ะ งานวิจัยนี้ใช้ชีวสารสนเทศ หรือ Bioinformatics มาศึกษากลไกใหม่ในการทำงานของ microRNA ซึ่งเป็นโมเลกุลเล็กๆ ในร่างกายของเราที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของยีนผ่านการจับกับตำแหน่งเป้าหมายบนยีน จากการศึกษาที่ผ่านมานั้น พบว่า การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของ microRNA มีความเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็งด้วยค่ะ ดังนั้น จึงมีการนำความรู้ด้าน microRNA มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ รวมทั้งในการเกษตรเพื่อปรับปรุงคุณลักษณะทางการเกษตรที่ต้องการด้วย
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ ศึกษาการทำงานของ microRNA ผ่านการจับกับบริเวณของยีนที่เรียกว่า promoter ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการทดลองทางห้องปฏิบัติการมากนัก โดยการนำชีวสารสนเทศ ซึ่งเป็นการทดลองในคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการทำนายตำแหน่งเป้าหมายของ microRNA ที่อยู่บนลำดับเบส promoter ของยีนทุกตัวในจีโนมของมนุษย์ จากนั้น จึงนำข้อมูลตำแหน่งเป้าหมายที่ได้จากการทำนาย มาเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลจีโนมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครื่องมือทางคอมพิวเตอร์อื่นๆ และจัดทำเป็น public database ที่ชื่อว่า microPIR ซึ่งเปิดให้ใช้งานฟรีที่ http://www4a.biotec.or.th/micropir และถือเป็นฐานข้อมูลแบบบูรณาการแหล่งแรกของข้อมูลตำแหน่งเป้าหมายของ microRNA บนยีน promoter ซึ่งนักวิจัยที่ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ สามารถใช้ข้อมูลจาก database ในการคัดกรองตำแหน่งเป้าหมายของ microRNA ที่ตรงกับความสนใจก่อนนำไปศึกษาต่อในเชิงลึก ซึ่งก็จะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทดลองในห้องปฏิบัติการได้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการดำเนินวิจัย และยังช่วยกระตุ้นให้งานวิจัยในหัวข้อนี้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น องค์ความรู้ที่ได้ก็อาจนำไปสู่แนวคิดในการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการรักษาโรค ผ่านการควบคุมการแสดงออกของของยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคได้ในอนาคต ตอนนี้มีฐานข้อมูล microPIR เวอร์ชั่น 2 สำหรับการศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างตำแหน่งเป้าหมายของไมโครอาร์เอ็นเอในจีโนมมนุษย์และจีโนมหนูด้วยนะคะ
สำหรับงานวิจัยเรื่องนี้ก็ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2556 ด้วย นอกจากนี้ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้รับเลือกเป็น Research Highlight บนเว็บไซต์ A-IMBN (Asia-Pacific International Molecular Biology Network) research อีกด้วย
ถาม : ทราบว่า ดร.จิง ได้รับรางวัล “นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น ปี 2015” ด้วย รางวัลนี้เป็นอย่างไรคะ
ตอบ : เนื่องจากจิงเคยได้รับทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่จาก สกว. มาก่อนจำนวน 2 ทุนค่ะ จากข้อมูลที่ได้รับ รางวัลนี้จะคัดเลือกจากนักวิจัยที่ได้รับทุน สกว. ซึ่งมีผลงานจากโครงการที่ได้รับทุนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ทั้งในด้านคุณภาพของผลงานวิจัยและผลกระทบต่อวงการวิชาการและสังคมด้วย เท่าที่เข้าใจนะคะเค้าจะดูจากจำนวนบทความวิชาการที่เราตีพิมพ์ รวมทั้งจำนวนครั้งที่ถูกนำไปอ้างอิงทางวิชาการ (Citation) และก็ดูที่คุณภาพของผลงานวิจัยเราจาก H-index ด้วยค่ะ การมอบรางวัลอันนี้ก็เพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่ๆ อย่างเรามีกำลังใจในการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงต่อไปค่ะ
ถาม : รางวัลที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีอะไรบ้าง
ตอบ : รางวัลที่ได้รับ ก็คือ “รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ปี 2552 เรื่อง “จุดกำเนิดและวิวัฒนาการของยีนในยูคาริโอตจากทรานสโปซอน” และต่อมาก็ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี ประจำปี 2558 เรื่อง “วิวัฒนาการทางพันธุกรรมของยีนโออาร์เอฟ 5 และยีนเอ็นเอสพี 2 ของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในฝูงสุกรที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์รุนแรง” (Genetic evaluation of ORF5 and Nsp2 genes of PRRSV in a swine herd following an acute outbreak with highly pathogenic PRRSV) สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา เป็นงานวิจัยร่วมกับอาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัยนี้ศึกษาว่า หลังจากที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสสายพันธุ์รุนแรงที่สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสที่มีอยู่เดิมในฟาร์มสุกรหรือไม่ ประโยชน์ของงานวิจัยนี้ก็คือ สามารถนำไปใช้ในการสร้างโมเดลจำลองกลไกการวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสตัวนี้ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการควบคุมโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยต่อไปค่ะ
ถาม : ทำงานเยอะขนาดนี้ มีแรงบันดาลใจอะไรในการทำงานคะ
ตอบ : แรงบันดาลใจของจิงมีค่อนข้างหลากหลาย แล้วแต่งานค่ะ บางงานนั้นเลือกทำเพราะว่าความชอบล้วนๆ เลย ไม่มีเหตุผลอื่นมารองรับ บางงานอาจจะไม่เคยทำมาก่อน แต่เราคิดว่าเรามีทักษะที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เป็นงานที่มีประโยชน์และมี Impact ต่อประเทศ ก็ทำให้มีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำ แต่แรงบันดาลใจโดยรวมก็คือ เมื่อเราได้ทำงานวิจัย แล้วสิ่งที่ทำมีประโยชน์กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มใหญ่ อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนในวันนี้ หรืออีกนานมากในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้ต่อยอดงานวิจัยไปได้ แค่นี้เราก็รู้สึกว่าเราภูมิใจแล้ว ทำเต็มที่ตามศักยภาพที่เรามี ทำให้ดีที่สุด และรักในสิ่งที่ทำ รับผิดชอบให้ดีที่สุด และทำงานแบบกัดไม่ปล่อยค่ะ
ถาม : มีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้าง และมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรคะ
ตอบ : ปัญหาหลักๆ ในการทำงานก็จะเป็นเรื่องกำลังคนค่ะ เพราะในประเทศไทยคนเรียนด้านชีวสารสนเทศ ค่อนข้างน้อย มีหลักสูตรที่เปิดสอนก็ค่อนข้างน้อย และคนที่เรียนจบด้านนี้ส่วนหนึ่งก็อาจจะไปทำงานด้านอื่นอีก ถ้าเทียบความก้าวหน้าของชีวสารสนเทศในประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ของเขาอาจจะไปไกลกว่าเราเยอะ ตรงนี้ทำให้เมื่อเราหาคนที่จบด้านนี้โดยตรงไม่ได้ เราก็ต้องแก้ปัญหาโดยการรับคนที่จบด้านอื่นที่ใกล้เคียงอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ หรือวิศวะมาแทนและเทรนความรู้ด้านชีววิทยาให้ ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลาในการเทรนอยู่บ้างกว่าจะมีประสบการณ์ในการทำงานค่ะ
ดร.จิตติมา พิริยะพงศา เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร แล้วทำตามความฝันที่ตัวเองต้องการ จนประสบความสำเร็จ… รางวัลต่างๆ ที่ได้รับ คงเป็นสิ่งยืนยันได้ดีระดับหนึ่งถึงคุณค่าของผลงาน เป็นกำลังใจที่ดีให้แก่คนทำงาน แต่สิ่งสำคัญอันเป็นความภาคภูมิใจของเจ้าตัวยิ่งกว่านั่นก็คือ ผลงานวิจัยที่ทำ สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมได้นั่นเอง