หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.1 – วังจันทร์วัลเลย์ : ยุทธศาสตร์ EECi ศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.1 – วังจันทร์วัลเลย์ : ยุทธศาสตร์ EECi ศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน
16 เม.ย. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

วังจันทร์วัลเลย์ : ยุทธศาสตร์ EECi ศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) พัฒนา “วังจันทร์วัลเลย์” จ.ระยอง เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลักดันเป็นศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) เป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการพัฒนา EECi ให้เป็น Innovation Ecosystem ชั้นนำของอาเซียน ที่ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาคมอย่างยั่งยืน คือ มุ่งตอบโจทย์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ให้พัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง EECi ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของ Thailand 4.0 คือ

1. ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้แก่ ศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups and Innovation Center) แหล่งรวมศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research Infrastructure) เช่น โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) โรงงานสาธิต (Demonstration Plant) พื้นที่ทดลองผลิตและพื้นที่ทดสอบตลาด (Living Lab) ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ (Testing Service Center) และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่องานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย นอกจากนี้ EECi จะเป็นแหล่งสำคัญที่ช่วยพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอีกด้วย

2. EECi ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาภาคการเกษตร ชุมชน และวิสาหกิจในพื้นที่ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน EECi

3. EECi ช่วยให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางเทคโนโลยี รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อม

4. EECi เป็นพื้นที่ที่จะพัฒนา Sandbox โดยจะเป็นพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการทดลองทดสอบงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่ไม่สามารถทำได้ที่อื่นในประเทศ และเอื้อประโยชน์ให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สู่ Thailand 4.0

5. EECi ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ปัจจุบันมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จำนวน 63 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็นมหาวิทยาลัย 25 หน่วยงาน ภาครัฐ 11 หน่วยงาน ภาคเอกชน 21 หน่วยงาน และพันธมิตรต่างประเทศอีก 6 หน่วยงาน

ปตท. นับเป็นพันธมิตรที่สำคัญมาก เพราะมีการติดต่อหารือ เจรจาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. และ ปตท. จะเป็นหุ้นส่วนพัฒนา Area of Innovation ในประเทศไทย พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ของ ปตท. จำนวนกว่า 3,400 ไร่ จะได้รับการพัฒนาให้เป็นโรงเรียน และมหาวิทยาลัยวิจัย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นเขตวิจัยชั้นนำของภูมิภาค มีการวิจัยที่เป็น Frontier Research ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและผู้ใช้ประโยชน์ มีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์วิจัยที่ดึงดูดบุคลากรวิจัยชั้นนำระดับโลก เพื่อจะสร้างผลกระทบให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”

คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ ณ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีสถาบันการศึกษาด้านวิจัยและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation System) โดย ปตท. จะลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามผังแม่บทที่ดิน เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (New S-Curve)

การพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินวังจันทร์วัลเลย์ตามผังแม่บทที่ดินแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ พื้นที่ Phase 1 จำนวน 760 ไร่ ซึ่ง สวทช. จะใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง 350 ไร่ โดย ปตท. จะให้ สวทช. เช่าใช้ประโยชน์ตลอดระยะเวลาดำเนินงาน สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือ ปตท. จะพัฒนาเป็นพื้นที่กลุ่มพาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวส่วนกลาง เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของบุคลากรและครอบครัว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ Phase 2 สำหรับการพัฒนาในอนาคตอีกประมาณ 1,200 ไร่ และ ปตท. จะร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ บนพื้นที่แห่งนี้ เพื่อร่วมกับ สวทช. ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายอีกด้วย

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนา EECi ที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง โดย EECi จะช่วยเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Value Chain) ทำให้งานวิจัยที่สำเร็จจากห้องปฏิบัติการและห้องทดลอง สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดและขยายขนาดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และเพื่อใช้ประโยชน์เชิงสังคมได้

“บทบาทสำคัญหนึ่งของ สวทช. คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพื้นที่เขตนวัตกรรมแห่งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ (Innovation Ecosystem) ไปสู่การเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัย พัฒนา และ นวัตกรรม ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน สนามทดลอง (Test Bed) แหล่งรวมโรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต เครื่องมือและกระบวนการเพื่อการทดสอบเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรม การผลิตสินค้าเพื่อทดสอบตลาด รวมถึงการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ รวมถึง EECi จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน (ASEAN Innovation Hub) โดยมุ่งพัฒนา 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ แบตเตอรีและยานยนต์สมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ เครื่องมือแพทย์ และการบินและอวกาศ โดยดำเนินการผ่าน 3 เมืองนวัตกรรมมุ่งเน้นของ EECi คือ (1) ARIPOLIS : ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (2) BIOPOLIS: ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ และ (3) SPACE KRENOVAPOLIS: ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ภายใน EECi จะมีการจัดสรรพื้นที่ให้ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยภาครัฐ เข้ามาเช่าในระยะยาว เพื่อดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา นวัตกรรม และการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบการลงทุนเองและร่วมลงทุน โดย สวทช. จะใช้ประสบการณ์และความเข้มแข็งของการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ Thailand Science Park ที่มีบริษัทเข้ามาทำวิจัยพัฒนาในพื้นที่กว่า 90 ราย โดยร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีความเข้มแข็งและมีฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตลอดจนมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อทำให้ EECi เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้าง Innovation Hub ของประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

 

16 เม.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: