หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.4 – 10 เทคโนโลยี ที่น่าจับตามอง
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.4 – 10 เทคโนโลยี ที่น่าจับตามอง
11 ก.ค. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

10 เทคโนโลยี ที่น่าจับตามอง

เป็นประจำทุกๆ ปี การเผย 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นวาระสำคัญที่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจกับกิจกรรมนี้ของ สวทช. มากขึ้นทุกปี

ปีนี้ก็เช่นกัน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. บรรยายพิเศษ เรื่อง “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ (10 Technologies to Watch)” ซึ่งแนะนำ 10 เทคโนโลยีใหม่ที่จะส่งผลกระทบในช่วงเวลา 5-10 ปีในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไปกว่า 600 คนรับฟัง ภายใต้งาน Thailand Tech Show 2018 ที่ สวทช. จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสริมแกร่งธุรกิจด้วยวิทย์และนวัตกรรม” เมื่อวันที่ 4-8 กรกฎาคมที่ผ่านา ณ ไบเทค บางนา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดนวัตกรรมให้กับนักลงทุนเป้าหมายและผู้ประกอบการไทย ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พัฒนากระบวนการผลิตให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน รวมทั้งการอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีที่จะพลิกชีวิตและธุรกิจของใครก็ได้ในทุกมิติ

เมื่อเทคโนโลยี เปลี่ยนวิถีชีวิต-พลิกธุรกิจ

1. แบคทีเรียลดยุงพาหะ (Mosquito-targeted Wolbachia)

ขณะนี้มีโครงการระดับนานาชาติที่นำแบคทีเรียชนิดหนึ่งคือ แบคทีเรียในสกุล โวลบาเชีย (Wolbachia) เข้าร่วมโปรแกรมระดับโลก World Mosquito Program หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า Eliminate Dengue รัฐบาลออสเตรเลียประกาศว่าการใช้ Wolbachia เป็นทางเลือกใหม่ที่ลดความเสี่ยงของการระบาดโรคไข้เลือดออก ซิก้า และชิกุนกุนยาได้ และมีต้นทุนต่ำคือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อประชากรเท่านั้น ขณะที่ปี 2012 รัฐบาลสิงคโปร์ ทำโครงการทดสอบภาคสนาม ปล่อยยุงที่มี Wolbachia ออกสู่สิ่งแวดล้อมเพื่อศึกษาและประเมินความเสี่ยง มีบริษัท Startup ในสหรัฐที่ผลิตยุงแบบนี้ออกจำหน่ายด้วย เทคโนโลยีการกำจัดยุงด้วยแบคทีเรียนี้น่าจะเป็นทางเลือกสำคัญแบบหนึ่งในการกำจัดยุงในพื้นที่อื่นๆ ของโลก หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง

2. วัคซีนกินได้ (Edible Vaccine)

วัคซีนรุ่นใหม่อาจจะใช้วิธีการกิน เช่น พืชอาหารต่างๆ การทำพืชวัคซีนแบบนี้ต้องนำสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่ไม่เกี่ยวกับการก่อโรคมาใส่เข้าไปในพืช พืชจึงเป็นดั่งโรงงานที่สร้างสารเหล่านี้ขึ้นมา โดยขั้นตอนนี้อาศัยแบคทีเรียพวก Agrobacterium นำสารพันธุกรรมเข้าไปในพืช เมื่อคัดเลือกพืชที่รับเอาสารพันธุกรรมดังกล่าวเข้าไปได้แล้ว ก็นำมาเพิ่มจำนวน และใช้รับประทานเป็นวัคซีนได้ต่อไป วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้ไข่สดหรือสัตว์ในการผลิต จึงปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อโรค วัคซีนแบบใหม่จึงอาจจะใช้วิธีกินแทนที่จะฉีดแบบที่เราคุ้นเคยกันมานาน

3. เซลล์สำหรับทดสอบยา (Cell Line for Drug Testing)

การนำเซลล์ผู้ป่วยมาทำให้เป็นสเต็มเซลล์แบบพิศษ iPSC จะสามารถนำมาทดสอบยาได้โดยตรง และได้คำตอบที่รวบรัดชัดเจนด้วยว่ายาที่ต้องการใช้ทำให้เซลล์ผู้ป่วยคนนั้นมีปฏิกิริยาทางลบหรือจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ ทั้งนี้มีบริษัทต่างๆ จำนวนหนึ่งที่พยายามหาวิธีสร้างเซลล์ iPSC จากผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น ฝรั่งเศส ผนวกเอาเทคโนโลยี microfluidic cell culture ที่เพาะเลี้ยงเซลล์ในระบบที่มีการแลกเปลี่ยนสารอาหารและอากาศที่ไหลผ่านเซลล์โดยควบคุมอย่างละเอียดทุกอย่าง จนทำให้สเต็มเซลล์ เติบโต และเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในระยะต่างๆ ที่เหมาะกับการนำมาใช้ทดสอบความเป็นพิษของยาได้เป็นอย่างดี เทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์จากสัตว์ หรือแม้แต่เซลล์จากผู้ป่วยนี้ จึงถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยแบบจำพาะเจาะจงรายคน ดังเช่น โครงการชื่อ The Medlem Project ที่ตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในยุโรปให้ยืนยาวขึ้นอีก 5-10 ปี และใช้ปรับปรุงกระบวนการรักษาอีกด้วย

4. การบำบัดส่วนบุคคล (Personalized Therapy)

ด้วยความรู้เกี่ยวกับข้อมูลพันธุกรรม จากผลของการอ่านรหัสพันธุกรรมได้ ด้วยราคาที่ถูกลงมาก และมีวิธีการตรวจรักษาที่เจาะจงมากขึ้น ทำให้การป้องกันและรักษาโรคดีขึ้นจนถึงระดับที่บำบัดรักษาแบบจำเพาะกับคนๆ นั้น เกิดการรักษาแบบ Personalized Therapy หรือ เป็นการบำบัดส่วนบุคคลเลยทีเดียว

หัวใจหลักของการรักษาแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ มาจากความรู้เกี่ยวกับการสร้างสเต็มเซลล์อย่างง่ายๆ สเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่สามารถนำมาใช้ซ่อมแซม หรือสร้างทดแทนเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่สึกหรอไปได้ ทั้งนี้นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ชินยะ ยามานะกะ (Shinya Yamanaka) ค้นพบวิธีการสร้าง “ตั้งโปรแกรมใหม่” หรือ reprogramming cell ซึ่งช่วยเปลี่ยนเซลล์ร่างกายแบบอื่นๆ ที่มีจำนวนมาก เช่น เซลล์ผิวหนัง ให้กลายเป็น สเต็มเซลล์ได้ โดยการใส่ดีเอ็นเอจำเพาะไม่กี่ชิ้น เกิดเป็นสเต็มเซลล์แบบพิเศษที่เรียกว่า iPSC ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบนี้ในปี ค.ศ. 2012

ไม่เพียงแค่เราได้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยง่ายขึ้น เทคโนโลยีในการแก้ไขดีเอ็นเอที่ผิดปกติที่เรียกว่า เทคโนโลยีการดัดแปลงยีน หรือที่เรียกว่า CRIPR/Cas9 (คริสเพอร์แคส 9) จะทำให้สามารถแก้ไขโรคต่างๆ ได้ รวมทั้งโรคพันธุกรรมที่เดิมไม่เคยรักษาได้มาก่อนเลย ตัวอย่างโรคแรกๆ ที่มีการทดลองไปคือ โรคจอตาเสื่อม เป็นต้น

5. เข็มจิ๋วอัจฉริยะ (Intelligent Nano-Needle)

หลายคนคงรู้จักเข็มจิ๋วจิ้มไม่เจ็บ หรือ Nano Needle ที่อาศัยลักษณะของเข็มที่เล็กมาก ทำให้เวลาใช้งาน ผู้ที่ถูกเข็มเหล่านี้จิ้มจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่เข็มเหล่านี้สามารถพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้นและทำงานได้อเนกประสงค์ เช่น การเชื่อมต่อกับตัวรับสัญญาณ หรือ sensor ทำให้สามารถตรวจวัดการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกายตามเวลาจริง (real time) ได้ เพื่อให้เห็นภาพ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ ที่ต้องการตรวจวัดระดับน้ำตาลอยู่ตลอดเวลา เพราะการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างกะทันหัน อาจก่ออันตรายร้ายแรงได้ ก็อาจต้องอาศัยเข็มแบบนาโนนี้แปะติดกับผิวหนังไว้ เข็มจิ๋วอัจฉริยะจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เข็มฉีดยา แต่กลายเป็น “ชุดวัดระดับน้ำตาล” ไปด้วยในตัว

6. วาล์วจิ๋วส่งยา (Nano-Valve)

เทคโนโลยีนาโนพอร์ซีเควนซิ่ง (Nano-Pore Sequencing) ที่อาศัยช่องเล็กสุดๆ ระดับนาโน ที่เล็กกว่าเส้นผมของคนเราถึง 100,000 เท่า ในการอ่านรหัสพันธุกรรม แต่เทคโนโลยีนี้ จะมีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นเมื่อนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีในการสร้าง “วาล์ว (valve)” หรือ ลิ้นปิดเปิดระดับนาโน ประกอบเข้ากับกับนาโนพอร์ ซึ่งจะเกิดเป็น “นาโนวาล์ว” ทำให้ได้ระบบนำส่งโมเลกุลหรือยาไปสู่เซลล์เป้าหมายและสามารถควบคุมการปลดปล่อย ณ ตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งอาจช่วยในการรักษาโรคได้ ทั้งนี้การควบคุมการปิด-เปิดของวาล์วนั้น ยังสามารถอาศัยกลไกการเปลี่ยนแปลง pH หรือ สารจำเพาะบางอย่างในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเป้าหมาย เช่น เซลล์เนื้องอก หรือมะเร็ง มี pH หรือสารจำเพาะที่ต่างจากเซลล์ปกติ ทำให้วาล์วเปิด และปล่อยสารหรือยาที่อยู่ภายในออกมารักษาได้ นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมได้จากภายนอกร่างกาย หรือภายนอกเซลล์ เช่น ใช้การกระตุ้นด้วยแสง ความร้อน หรือ สนามแม่เหล็ก จึงทำให้การออกฤทธิ์ของสารที่บรรจุไว้ในนาโนพอร์ มีความจำเป็นสูงมากในการรักษา “นาโนวาล์ว” จึงเป็นอีกทางหนี่งในการรักษาโรคในอนาคต

7. การพิมพ์โลหะ 3 มิติ (Metal 3D Printing)

ปัจจุบันการพิมพ์โลหะ 3 มิติ มีการใช้เลเซอร์ (Laser) หรือลำแสงอิเล็กตรอน (Electron Beam) หลอมละลายผงโลหะเป็นชั้นๆ ชิ้นงานที่ได้มีความแข็งแรง ตกแต่งเพียงเล็กน้อยก็ใช้งานได้ทันที ด้วยเทคโนโลยีที่เบ็ดเสร็จในตัวเช่นนี้ คาดการณ์ว่าภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 จะมีเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ ไว้ใช้ตามออฟฟิศมากขึ้น โดยใช้วิธีพิมพ์แบบดันวัสดุ (Material Extrusion) ผงโลหะที่ผสมกับพอลิเมอร์จะถูกดันผ่านหัวฉีดขึ้นมาเป็นชั้นๆ โดยไม่ต้องใช้เลเซอร์หรือลำแสงอิเล็กตรอน และไม่มีผงโลหะส่วนเกิน ทำให้วางเครื่องประเภทนี้ในออฟฟิศได้เลย จุดเด่นคือพิมพ์ได้รวดเร็วขึ้น ราคาเครื่องพิมพ์ถูกลงโดยเฉพาะเพื่อพิมพ์ชิ้นส่วนโลหะ ที่ไม่ต้องการการผลิตจำนวนมากแต่ต้องมีความจำเพาะเจาะจง เช่น ในทางการแพทย์ ปัจจุบัน เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับภาคเอกชนทำงานวิจัยที่ประยุกต์ใช้การพิมพ์โลหะ 3 มิติ เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม ทั้งวิธีการพิมพ์ที่ใช้เลเซอร์ หรือลำแสงอิเล็กตรอน และวิธีการพิมพ์ที่ต้องนำชิ้นงานไปเผาผนึกก่อนการใช้งาน

8. วัสดุดูดซับเสียงออกแบบได้ (Customized Sound Absorber)

ปัญหาเสียงดังจากยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องจักร ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง “โฟมอะลูมิเนียม” เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในด้านการดูดซับเสียงได้ดี แข็งแรง ทนแรงกระแทก น้ำหนักเบา สวยงาม ไม่ลุกติดไฟ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. พัฒนาโฟมอะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติเด่น คือ ดูดซับเสียงที่ความถี่เสียงต่างๆ ได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ออกแบบโดยใช้วัสดุทรงกลมซึ่งสามารถทนอุณหภูมิสูง และมีพื้นผิวรูปแบบต่างๆ เป็นวัสดุที่ทำให้เกิดรูพรุนรูปแบบต่างๆ ภายในโฟมอะลูมิเนียมด้วย โดยผลทดสอบในห้องปฏิบัติการสามารถลดระดับเสียงดังลงได้จาก 90 เดซิเบล เป็น 64 เดซิเบล (การฟังเสียงดังระดับ 85 เดซิเบล ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้การรับฟังเสียงบกพร่องอย่างถาวรได้) วิธีการดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแบบเดิมถึง 50 % ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย

9. เทคโนโลยีไซเบอร์-ฟิสิคัล (Cyber-Physical Technology)

ในโลกศตวรรษที่ 21 ลักษณะความเป็นเมืองใหญ่เป็นเทรนด์ที่เห็นได้ชัด โดย World Urbanization Prospects คาดว่า จำนวนประชากรโลกที่เป็นคนเมืองจะมีมากถึงร้อยละ 66 ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะเกิดผลดีต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมในเมือง แต่ก็อาจต้องการบริการที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคม การจัดการทรัพยากร และสภาพแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัย

เมืองกายภาพ หรือ physical city และเมืองไซเบอร์ หรือ cyber city จะเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายเซนเซอร์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์หลากหลายชนิด เกิดความเป็น เมืองแบบไซเบอร์–ฟิสิคัล (Cyber–Physical City) โดยมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (IoT) เป็นตัวช่วยสำคัญ ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจแบบใหม่จำนวนมาก ทั้งธุรกิจบริการ มีตัวอย่างบ้างแล้ว เช่น ระบบบริการรถของอูเบอร์ (UBER), ร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีแคชเชียร์ (Amazon Go) ปัจจุบัน สวทช. กำลังสร้างฐานเทคโนโลยีระบบนี้อยู่ผ่าน โครงการเน็ตพาย (NETPIE) และโครงการเมืองอัจฉริยะ (smart city) โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

10. เทคโนโลยีแช็ตบอต (Chatbot Technology)

ทุกวันนี้ โลกกำลังขยับจากยุคดิจิทัลเข้าสู่ยุคอัจฉริยะ (Intelligence Era) คนจำนวนมากมีเครื่องคอมพิวเตอร์พลังสูงพกติดตัว ในอนาคตอันใกล้การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านี้ อาจะไม่ต้องพึ่งคีย์บอร์ด เมาส์ หรือทัชสกรีน แต่เป็นการสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติ (Seamless Conversation) ผ่านเทคโนโลยีแช็ตบอต ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้มนุษย์พูดคุย สั่งงาน และสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้เฉกเช่นเดียวกับการสนทนากับคนด้วยกันเอง

เทคโนโลยีแบบนี้มีหลายรูปแบบ เช่น ใช้ทำแช็ตบอตสำหรับบริการลูกค้า (Customer Service Chatbot) เช่น Line@ และ Siri และ Echo ระบบในหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์ดินสอ ทั้งนี้หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU) ศูนย์เนคเทค สวทช. ทำวิจัยส่วนประกอบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว 20 ปีต่อเนื่อง ปัจจุบันมีระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทยที่รองรับคำศัพท์หลากหลาย มีระบบจัดการการสนทนา และระบบสังเคราะห์เสียงพูดที่เป็นธรรมชาติ และร่วมกับพันธมิตรเพื่อประยุกต์ใช้ในงานบริการลูกค้าแบบเฉพาะด้านอีกด้วย

ดร.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะสังเกตได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ารวดเร็วมาก และปราศจากพรมแดน ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง ประเทศไทยจึงสามารถมีส่วนร่วมในการคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างเอาไว้ มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการทำความเข้าใจทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่เพื่อเลือกพิจารณาลงทุนให้เหมาะสม เพราะเทคโนโลยีใกล้ชิดกับเราอย่างมากโดยคาดไม่ถึงในทุกมิติของชีวิต

11 ก.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: