หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.6 – APCG2018 เวทีรวมพลังเพื่อ “เด็กความสามารถพิเศษ”
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.6 – APCG2018 เวทีรวมพลังเพื่อ “เด็กความสามารถพิเศษ”
12 ก.ย. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

APCG2018 เวทีรวมพลังเพื่อ “เด็กความสามารถพิเศษ”

ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย โดยเฉพาะเยาวชนอนาคตของชาติ ที่ต้องวางรากฐานและบ่มเพาะอย่างต่อเนื่อง ในงาน “การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 (The 15th Asia-Pacific Conference on Giftedness 2018: APCG2018)” ซึ่งผ่านพ้นการจัดงานไปแล้วระหว่างวันที่ 20 – 24 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นงานใหญ่ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการจัดงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ และเผยแพร่องค์ความรู้พัฒนาเครือข่ายการทำงานระดับนานาชาติ ด้านการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ตลอดจนเพิ่มพูนศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างถูกหลักและเต็มความสามารถ โดยมี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุม APCG2018

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งนอกจากทำงานวิจัยและผลักดันงานวิจัยให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยการจัดงานการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 หรือ APCG 2018 ครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนากำลังคนของชาติร่วมกับเยาวชนประเทศอื่นๆ ที่มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี กีฬา และศิลปะ ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านกิจกรรมค่ายเยาวชนนานาชาตที่จัดขึ้นที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี นอกจากนี้ยังมีวิทยากรด้านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ชั้นแนวหน้าของโลกและจากประเทศไทย จำนวน 19 ท่าน จาก 9 ประเทศ ที่มาร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนระสบการณ์การทำงานด้านการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ ที่มารวมตัวกันมากที่สุดงานหนึ่ง มียอดผู้สนใจมีผู้ลงทะเบียนกว่า 500 คน จาก 27 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม

สำหรับการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 หรือ APCG2018 นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งยังได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างเข้มแข็ง โดยตลอดการประชุมนั้นมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ ชั้นแนวหน้าของโลก ร่วมให้ทัศนะที่น่าสนใจต่อการพัฒนาเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ

>> วัดไอคิว ไม่ใช่วิธีค้นหาเด็ก Gifted เสมอไป

เริ่มด้วยการทำความเข้าใจให้ตรงกัน สำหรับการพัฒนาและค้นหาเด็กความสามารถพิเศษ โดยศาสตราจารย์จิน อะคิยาม่า รองประธานมหาวิทยาลัยโตเกียวและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บ่มเพาะเด็กอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ IQ สูง สู่การเป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง” ได้กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หมายถึงเด็กที่มีระดับไอคิว (Intelligence Quotient: IQ) สูง หรือมีความรู้มากๆ และไม่เชื่อว่าจะสามารถค้นพบเด็กอัจฉริยะได้จากการทดสอบระดับสติปัญญา (IQ Test) หากแต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นจะต้องมีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก ต้องมีความสงสัยใคร่รู้อย่างเต็มที่และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่เด็กจะเติบโตกลายมาเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่

“คะแนนสอบที่ดีนั้นไม่สำคัญสำหรับการเป็นนักวิจัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่พวกเขามีความสนใจในบางสิ่งและสามารถที่จะครุ่นคิดถึงสิ่งนั้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานแรมเดือนแรมปี ดังนั้นเราจะไม่สามารถหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้จากการทดสอบระดับไอคิว”

ทั้งนี้การสอนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษกลายเป็น “นักวิจัย” ที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้นครูมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ครูควรจะสอนแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานหลักและสนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเป็นที่ปรึกษาให้เด็กเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูจะต้องทำเป็นสิ่งแรก เพื่อจุดประกายความกระตือรือร้นของเด็กเหล่านั้นออกมา

หลายคนดูเหมือนจะเชื่อว่า ผลของการทดสอบไอคิวนั้น จะเป็นมาตรวัดความอัจฉริยะของเด็กได้ แต่ความคิดส่วนตัวแล้วไม่คิดเช่นนั้น การทดสอบไอคิว เป็นเพียงมาตรวัดความรู้และประสบการณ์ของเด็กเท่านั้น” เป็นทัศนะของ ศาสตราจารย์จูน เมเคอร์ นักการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เห็นตรงกันกับศาสตราจารย์อะคิยาม่า

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เมเคอร์ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อัจฉริยะสร้างได้ด้วยทฤษฎี Prism รังสรรค์จินตนาการบวกกับการดูแลจิตใจและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดอัจฉริยะได้” และยังได้นำเสนอทฤษฎีผลึกแท่งเแก้ว (The Prism Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ที่ใช้แสดงถึงความสามารถพิเศษของเด็ก เพื่อที่จะสนับสนุนและบ่มเพาะความสามารถพิเศษที่แสดงออกมานั้นให้เติบโตไปพร้อมกัน ว่า องค์ประกอบสำคัญของทฤษฎีผลึกแท่งเแก้ว คิดค้นโดย ศาสตราจารย์เมเคอร์ร่วมกับนักวิจัยอีก 3 ท่าน คือ แสงสีขาวที่มาตกกระทบกับผลึกแท่งแก้วแล้วให้ผลลัพธ์ของแสงออกมาเป็นหลากหลายสี ซึ่งแสงสีขาวนั้นเปรียบได้กับปัญหา หรือความสนใจ หรือความกระหายใครรู้ในการทำบางสิ่ง หรือเป็นได้ทั้งปัญหาที่ต้องการคำตอบ ต้องการทางแก้ไข เป็นได้ทั้งความหลงใหลความชอบในบางสิ่งที่มนุษย์ต้องการสร้าง หรือต้องการเปลี่ยนแปลง เมื่อแสงสีขาวมาตกกระทบกับผลึกแท่งแก้ว ซึ่งภายในนั้นเปรียบเสมือนองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ หรือสภาพแวดล้อมที่บุคคลนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง อาทิ วิธีการสอน การตั้งคำถามของครู​ เป็นต้น ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นแสงหลายเฉดสี ที่สะท้อนออกมาในอีกหลายด้านของผลึกแท่งแก้ว แสงสีที่สะท้อนออกมาเปรียบได้กับความสามารถทั่วไปและความสามารถเฉพาะของมนุษย์ในหลากหลายสาขา

“กระบวนการภายในผลึกแท่งแก้ว คือ การให้การศึกษากับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ให้โอกาสพวกเขาได้ค้นหาและตามหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบแนวทางสำหรับเด็กเหล่านั้นว่าควรเรียนอะไร และเรียนอย่างไร สิ่งสำคัญ 3 ประการ ที่จะพัฒนาเด็กให้มีความสามารถพิเศษ ได้แก่ ส่งเสริมความสามารถตามธรรมชาติ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ ล้วนถูกสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยพ่อแม่และครู”

>> พิพิธภัณฑ์ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้

ศาสตราจารย์ เว่ย ชิน ซุน (Wei-Hsin Sun) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งไต้หวัน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความท้าทายของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในการสร้างความสัมพันธ์และดึงความสนใจของเด็กอัจฉริยะและเด็กที่มีความสามารถในการเรียนรู้สูง” ได้ยกตัวอย่างถึงการบริหารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งไต้หวัน ว่า มีการจัดกิจกรรมที่น่ามหัศจรรย์ ที่ไม่เพียงแต่มีความสนุกสนาน แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมต่อไปยังธรรมชาติ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯ มีพนักงานเป็นนักวิจัยและศาสตราจารย์ระดับดอกเตอร์มากกว่า 60 คน ช่วยกันคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการเรียนรู้ให้กับคนที่เข้ามาเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ฯ โดยนำเสนอความคิดและหัวข้อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ อาทิ เรื่องของเมล็ดพืช ดอกไม้ ต้นไม้ พฤติกรรมสัตว์ หรือฟอสซิลไดโนเสาร์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ซุน กล่าวด้วยว่า ประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไต้หวันเราค้นพบว่าเด็กนักเรียนสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในรูปแบบที่มีความสนุกสนาน เมื่อเด็กมีความสนุกในการเรียนรู้ เขาจะแสดงออกซึ่งความสนใจของเขาต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะสามารถค้นพบได้ว่าความสามารถพิเศษใดๆ ที่เด็กเหล่านั้นมีและซุกซ่อนอยู่ เด็กนักเรียนจะกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และมีบทบาทในการเรียนรู้ ในขณะที่ความรับผิดชอบของคุณครูคือ การทำให้เด็กนักเรียนมีความสนใจและอยากที่จะเรียนรู้โดยต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง

การจัดประชุม APCG2018 จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกลสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบาย “วิทย์สร้างคน” เพื่อเกิดการพัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและสังคม ในปีนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนงบประมาณกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 994 ล้านบาท) เพื่อการพัฒนาความสามารถด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) และพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรในเด็กและเยาวชนไทย ผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ซึ่งได้แจกให้กับโรงเรียนกว่า 1,000 แห่ง อีกทั้งยังสนับสนุนโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ให้มีห้องทดลองทางด้านวิศวกรรมใน 150 สถานศึกษา โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่งทั่วภูมิภาค

ความสำเร็จครั้งนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถพิเศษ เกิดการพัฒนาเครือข่ายร่วมกันในโอกาสต่อไป กิจกรรมทุกกิจกรรมจะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนทุกคนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศนวัตกรรมในอนาคต

เรียบเรียงโดย อาทิตย์ ลมูลปลั่ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.

12 ก.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: