หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.7 – บทความ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ
จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.7 – บทความ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ
6 ต.ค. 2559
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

alt

10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ

alt

ในงานมหกรรม Thailand Tech Show 2016 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ”
การปาฐกถาพิเศษหัวข้อดังกล่าวนี้ เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้ว เป็นความพยายามของ สวทช. ที่จะสื่อสารเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะส่งผลกระทบในช่วงเวลา 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไปเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม โดยเทคโนโลยีจำนวนมากเกี่ยวข้องกับเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และไอที เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งศูนย์วิจัยแห่งชาติใน สวทช. อาจเกีี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่บางเทคโนโลยีก็นำเสนอในอีกรูปแบบหนึ่งคือ ผ่านผลกระทบในเชิงสุขภาพ พลังงาน หรือการดำรงชีวิตในรูปแบบต่างๆ

alt alt alt

ดังตัวอย่าง ปี 2553 เราพูดถึง รถยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้เราก็เห็นแล้วว่า รถยนต์ Tesla มาแรงมากๆ ในต่างประเทศ
ปี 2554 เราพูดถึง พลาสติกชีวภาพ ตอนนี้ก็เห็นมีแก้วกาแฟในร้านดังบางแห่งที่หันมาใช้วัสดุแบบนี้แล้ว
ในหลายปีหลัง เราพูดถึงการพิมพ์ล้ำยุคอย่าง 3D หรือ 4D printing รวมไปถึง bioprinting ที่เป็นการพิมพ์เซลล์ที่ใช้ซ่อมแซมร่างกาย ก็จะเห็นว่า 3D-printing เริ่มมีผลิตภัณฑ์ขายกันเกร่อแล้ว ขณะที่ 4D กับ bioprinting ก็ใกล้จะวางตลาดเข้ามาเรื่อยๆ แล้ว เกม Pokemon Go ก็ใช้เทคโนโลยี Augmented Reality ที่เราพูดถึงไปเมื่อ 3 ปีก่อน
ในปีนี้ เราขอนำเสนอเทคโนโลยีทั้ง 10 แบบ ในลักษณะของภาพจำลองอนาคต หรือ scenario ตั้งแต่เราตื่น ไปจนถึงการทำงาน หรือดำรงชีวิตระหว่างวัน

Food, Cosmetics & Clothes
1. Food Structure Design

alt

ลองจินตนาการว่า ตื่นเช้าขึ้นมา ท่านต้องทำอะไรบ้าง หลังจากทำกิจวัตรประจำวันแล้ว ท่านก็ต้องทานอาหารใช่ไหมครับ อาหารที่ดีต่อสุขภาพมักไม่ค่อยถูกปาก เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาช่วย เกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงสร้างอาหาร หรือ Food Structure Design เพื่อให้อาหารที่ดีมีความน่ารับประทานมากขึ้น จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญ และเป็นเทคโนโลยีลำดับที่ 2 ที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้
การจะทำให้อาหารดูดี มีเนื้อสัมผัสดี อีกทั้งยังสามารถให้กลิ่น รสชาติ และสารอาหาร ได้อย่างครบถ้วน จะต้องอาศัยความรู้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และถือเป็นงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุที่มาแรงทีเดียว ตัวอย่างการออกแบบอาหารจำพวกนี้ เช่น ผลงานวิจัยไส้กรอกไขมันต่ำของเอ็มเทค สวทช. ที่ทำร่วมกับ บริษัทเบทาโกร ซึ่งสามารถทำให้ไส้กรอกมีปริมาณไขมันต่ำกว่า 5% จากที่ปกติแล้วไส้กรอกทั่วไปจะมีไขมันอยู่ราว 20-30% โดยไม่ทำให้รสสัมผัสนุ่มลิ้นของไส้กรอกเปลี่ยนแปลงไปด้วย ที่สำคัญคือสารที่ใส่ทดแทนไขมันเข้าไป ยังช่วยเพิ่มเส้นใยอาหารที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะมีปัญหาการเคี้ยวอาหารยากลำบาก ก็มีความพยายามพัฒนาอาหารที่มีเคี้ยวง่าย ส่วนผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ก็ต้องการอาหารบดที่ไม่เหลวจนเกินไป เพราะอาจไหลเข้าหลอดลม และก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อและเป็นอันตรายได้

2. Personalized Food

alt

     อาหารในอนาคตอันใกล้ อาจจะกลายมาเป็นยาจริงๆ ดังที่บางท่านอาจจะมีอาหารเฉพาะบุคคล หรือ personalized food
อาหารเฉพาะบุคคล คืออะไร ?
มันคืออาหารที่ออกแบบโดยอาศัยข้อมูลสุขภาพของตัวท่านอย่างจำเพาะ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยข้อมูลทางชีววิทยาจำนวนมาก ต้องใช้เทคโนโลยีที่ลงท้ายด้วยโอมิกส์ทั้งหลาย เช่น จีโนมิกส์ (genomics) ที่ศึกษาข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของคนเรา โปรตีโอมิกส์ (proteomics) ที่ศึกษาโปรตีนทุกชนิดของคนเรา อีกหน่อยท่านจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ nutrigenomics และ nutrigenetics ที่บอกความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับพันธุกรรมของแต่ละคนได้ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีแบบนี้ขนานไปกับ personal genomics และ pharmacogenetics ที่ช่วยออกแบบยาตามข้อมูลพันธุกรรมที่เราเคยกล่าวถึงไปตั้งแต่ปี 2553 และ 2554
ตัวอย่าง บริษัท MyDiet Clinic รับตรวจแนวโน้มการเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูงจากโซเดียม ความดันโลหิตต่ำจากโฟเลต โรคจากระดับไตรกลีเซอไรด์สูง เป็นต้น โดยประเมินจากพันธุกรรมใน 7 ยีน แล้วนำมาใช้ออกแบบสูตรอาหาร พร้อมให้คำแนะนำด้านสุขภาพแบบต่างๆ ถือเป็นเทคโนโลยีแบบ mass customization
บริษัท TNO Innovation For Life พัฒนาวิธีหาความเชื่อมโยงอาหารกับสุขภาพ และพัฒนาวิธีทำ 3D Printed Food สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลืน โดยออกแบบทั้งสารอาหาร รูปร่างหน้าตา และรสชาติของอาหารด้วย
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสำคัญจะไปคอนเวอร์เจนซ์ รวมเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยกันอยู่เสมอๆ จะเกิด niche ใหม่ๆ ด้านอุตสาหกรรมอาหารขึ้นในไม่ช้า สำหรับประเทศไทย โดยความริเริ่มของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ริเริ่มและผลักดันให้มีการก่อตั้ง Food Innopolis ขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย แล้วก็คงมีนวัตกรรมหลายๆ อย่างที่ตอบสนองต่อเทรนด์ “อาหารที่เป็นยาด้วย” แบบนี้ด้วยเช่นกัน เทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างอาหาร และอาหารเฉพาะบุคคล จึงเป็น 2 เทคโนโลยีที่ไปด้วยกัน
อย่างใกล้ชิด

3. Second Skin

alt

     เมื่อทานอาหารที่ออกแบบอย่างเหมาะสมกับร่างกายสุดๆ แล้ว ต่อไปก็ต้องแต่งหน้าแต่งตัว เรื่องหน้าตาผิวพรรณ ถือเป็นเรื่องที่คนสมัยนี้ให้ความสนใจกันมาก มีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวออกมาใหม่ๆ ตลอดเวลาจะดีเพียงใด หากมีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ใช้งานง่าย และที่สำคัญคือ ไม่แพงนัก วิธีใช้งานก็เพียงแค่ทามันลงบนผิวของเรา มันก็จะทำหน้าที่ประหนึ่งผิวหนังที่สอง หรือ Second Skin ให้กับเราได้ เรื่องนี้ใกล้จะเป็นจริงแล้ว เพราะมีการผนึกกำลังของกลุ่มนักวิจัยจาก MIT, Massachusetts General Hospital, บริษัท Living Proof และ Olivo Labs ในสหรัฐฯ ที่กำลังพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า Second Skin Polymer กันอยู่
พอลิเมอร์ดังกล่าวมีสมบัติที่ดี แทบจะเทียบเท่ากับผิวหนังของหนุ่มสาว คือ ยืดหยุ่นสูงถึง 250% ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ยอมให้ออกซิเจนและความชุ่มชื้น ซึมผ่านลงไปสู่ผิวจริงได้ดี พอลิเมอร์ดังกล่าวคือ polysiloxane หากทาพอลิเมอร์ดังกล่าว แล้วทาเจลอีกชนิดหนี่งที่มี platinum เป็นองค์ประกอบทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทับลงไป พอลิเมอร์ในชั้นแรกก็เกิดโครงสร้างที่ประสานกันในไม่กี่วินาที เกิดเป็นฟิล์มใสที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำหน้าที่ปกป้องผิวกายเราให้ดูอ่อนเยาว์ เต่งตึง  และชุ่มชื้น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำงานได้นานถึง 24 ชั่วโมง ทนต่อเหงื่อและน้ำ ไม่ลอกออกง่ายๆ  และยังช่วยป้องกันรังสียูวีด้วย ที่สำคัญคือ Second Skin ดังกล่าว ยังสามารถประยุกต์ใช้ในการนำส่งยาหรือสารอื่นๆ ได้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทย มีห้องปฏิบัติการนาโนเวชสำอางของศูนย์นาโน เทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ที่สนใจทำวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้อยู่

4. Micro Supercapacitor

alt

     หลังจากแต่งหน้าแต่งตา ก็มาที่เรื่องเสื้อผ้ากันครับ ทุกคนคงมีมือถือกันนะครับ เดี๋ยวนี้มีการใช้งานกันหนักมาก บางทีต้องมีเพาเวอร์แบ็งก์ติดตัวด้วย บางคนมากกว่า 1 เครื่องอีกต่างหาก หากเสื้อผ้าที่เราสวมใส่สามารถชาร์จไฟให้มือถือได้ ก็คงจะดีนะครับ ขณะนี้มีการพัฒนาตัวเก็บประจุยิ่งยวดขนาดจิ๋ว หรือ Micro Supercapacitor กันอยู่ (อุปกรณ์ที่ว่านี้มีชื่อย่อทางวิชาการว่า EDLC) โดยมีโครงสร้างง่ายๆ ที่ประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว และสารอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte)  เมื่อชาร์จไฟประจุบวกและลบจะวิ่งไปยังขั้วตรงข้าม และเมื่อคายประจุ พวกมันก็จะวิ่งกลับมาที่สารอิเล็กโทรไลต์เหมือนเดิม โดยไม่มีปฏิกิริยาเคมีมาเกี่ยวข้อง จึงต่างจากแบตเตอรี่ในปัจจุบัน ระบบแบบนี้ ชาร์จและปล่อยประจุได้เร็วมาก และไม่มีการสึกกร่อนด้วย จึงชาร์จไฟได้เป็นล้านๆ ครั้งโดยไม่เสื่อมสภาพ ที่สำคัญคือ สามารถออกแบบให้มีลักษณะโค้งงอได้ และสร้างซ้อนกันเป็นชั้นๆ ได้ จึงทำให้ออกแบบให้มีความจุมาก แต่ยังมีขนาดเล็กมาก ลักษณะสำคัญอีกอย่างคือ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เก็บเกี่ยวพลังงานได้หลายรูปแบบ เช่น จากการสั่นสะเทือนหรือจากอุณหภูมิ จึงเหมาะมากที่จะนำมาใช้ประกอบเข้ากับเส้นใยเสื้อผ้า มีการคาดหมายว่าในอนาคต เราน่าจะชาร์จมือถือจากเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ (wearable electronics) จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป ขณะนี้ในประเทศไทย ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ของเนคเทค สวทช. กำลังวิจัยและพัฒนา Micro Super
capacitor แบบนี้อยู่ โดยอาศัยกราฟีนมาใช้เป็นขั้วไฟฟ้า

Transportation

5. Programmable Materials

alt

เมื่อแต่งตัวกันแล้ว เราก็จะเริ่มออกเดินทางกันครับ ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะได้ใช้ยานพาหนะที่มีการออกแบบเรื่องรูปร่างไว้ในโครงสร้างตั้งแต่ต้นในสามปีที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึงวัสดุฉลาดหลายจำพวก ทั้งพวกที่ซ่อมแซมตัวเองได้ หรือมีคุณสมบัติพิเศษแบบที่เรียกว่าเป็น smart polymer, smart textile และ intelligent material
ในปีนี้จะขอพูดถึงวัสดุฉลาดอีกจำพวกหนึ่งคือ วัสดุที่สามารถตั้งโปรแกรมได้ หรือ programmable materials กล่าวเปรียบเทียบให้ง่าย ปัจจุบันเรามีวัสดุที่เปลี่ยนแปลงสภาพบางอย่างได้เมื่อถูกกระตุ้น เช่น แก้วน้ำที่เติมน้ำร้อน แล้วจะมีภาพปรากฏให้เห็น หรือหลอดไฟที่เมื่อมีสัญญาณเรียกเข้ามายังมือถือ ก็จะสว่างขึ้น แต่ในกรณีนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และฟังก์ชันการทำงานได้ ตามสิ่งแวดล้อมหรือสภาวการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น สนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า ความดัน สภาพทางเคมี หรือแม้แต่เมื่อถูกแสงในย่านความถี่ต่างๆ ปัจจุบันใน ภาคอุตสาหกรรมต้องการวัสดุพวกนี้อย่างยิ่ง แต่ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากมีราคาแพง หรือสร้างและประกอบยุ่งยาก
มีความพยายามจะออกแบบยานยนต์ หรืออากาศยานด้วยวัสดุโปรแกรมได้ เช่น กรณีของคาร์บอนไฟเบอร์โปรแกรมได้ คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง เหนียว และมีน้ำหนักเบา ซึ่งทำให้ใช้งานได้ในหลายอุตสาหกรรม บริษัท Briggs Automotive Company ผู้ผลิตปีกซูเปอร์คาร์ ร่วมกับบริษัท Airbus และ MIT ออกแบบการขึ้นรูปชิ้นส่วนที่ใช้ควบคุมปริมาณอากาศที่จะปล่อยให้เข้าสู่ห้องเครื่องเจ็ต แต่ละชิ้นส่วนของคาร์บอนไฟเบอร์โปรแกรมได้ จะเปลี่ยนรูปร่างของมัน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางแอโรไดนามิกส์ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ช่วยลดน้ำหนักอากาศยานลงอย่างมาก และไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เชิงกลควบคุมอีกต่อไป วัสดุโปรแกรมได้ยังมีใช้ในข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน เช่น ทำจากไม้อัดโปรแกรมได้ ซึ่งอาจนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปร่างขนย้ายได้ง่าย แต่จะกลายเป็นรูปร่างสุดท้ายเมื่อไปถึงที่หมายแล้วและโดนกระตุ้น หรือบางทีแม้แต่เสื้อผ้า ก็อาจใช้วัสดุการพิมพ์แบบ 3 มิติ มาช่วยสร้างชุดเสื้อผ้าแบบโปรแกรมได้เช่นกัน วัสดุพวกนี้จึงออกแบบให้มีหน้าตารูปร่างสุดท้าย ตั้งแต่การเริ่มต้นผลิต  ในส่วนของ สวทช. มีห้องปฏิบัติการใน เอ็มเทค และ นาโนเทค ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับวัสดุทำนองนี้อยู่

6. Image & VDO Content Analytics

alt

     เมื่อขึ้นยานพาหนะที่อาจจะใช้วัสดุที่โปรแกรมล่วงหน้าได้แล้ว ลองมาดูเรื่องการจราจรกันต่อไป ปัจจุบัน กล้องดิจิทัลสมาร์ตโฟนที่ถ่ายภาพได้ ระบบคลาวด์ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูลเหลือเฟือ ประกอบกับการเจริญเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้คนทุกมุมโลกเชื่อมต่อ สร้างและเก็บข้อมูลภาพและวิดีโอ มากมายตลอดเวลา เทคโนโลยีการวิเคราะห์เนื้อหาภาพและวิดีโอ (Image and Video Content  Analytics) จึงมีส่วนสำคัญในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลดังกล่าว มีหลายนวัตกรรมที่สอดรับกับการจัดการบิ๊กเดต้า (Big Data) หรือข้อมูลขนาดใหญ่ ในโครงการสำคัญระดับชาติ ในโครงการสมาร์ตซิตี้ ที่จะนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต โดยเน้นในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ภาพจากกล้อง CCTV ใน ปัจจุบัน ยังนำมาใช้งานแบบ passive เป็นหลัก คือ เกิดเหตุแล้วนำมาใช้ช่วยตรวจสอบ แต่ในยุคหน้าเทคโนโลยี Content Analytics จะช่วยทำให้เป็นแบบ active และ real time
ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยี Deep learning มาใช้วิเคราะห์ภาพและวิดีโอในทางอุตสาหกรรมบ้างแล้ว สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีนี้เคยถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม อาทิ ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ล้วนมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีนี้
นอกจากนี้ ยังใช้ในร้านสะดวกซื้อ งานรักษาความปลอดภัย และการช่วยเหลือชีวิต เช่น ตรวจสอบเพลิงไหม้ และการทะเลาะวิวาทแบบอัตโนมัติ และยังใช้ป้องกันการก่อการร้ายได้ด้วย
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ล้วนแล้วแต่สนับสนุนแนวคิดการสร้าง New S-Curve ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ที่เราเผชิญอยู่ ตามแนวนโยบายของกระทรวงและของประเทศ

Work & Health
7. Terahertz Tech

alt

alt

     เทคโนโลยีอีก 3 อย่างที่เหลือ จะเกี่ยวข้องกับการแพทย์ และการรักษาโรคในอนาคตอันใกล้ในแบบใดแบบหนึ่ง เรามาดูกันก่อนที่เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ (Terahertz Technology) คลื่นเทระเฮิรตซ์ คือ ช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่ระหว่าง คลื่นไมโครเวฟ และ คลื่นอินฟราเรด ซึ่งมีความยาวคลื่นอยู่
ในช่วง 30 ไมโครเมตร ถึง 3 มิลลิเมตร ซึ่งเหมาะจะใช้ในการสื่อสารโทรคมนาคม การตรวจจับสารเคมี และสารตั้งต้นวัตถุระเบิด จึงเหมาะสำหรับใช้งานในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมที่เป็น mass market อย่างเช่น การควบคุมคุณภาพของกระดาษ การควบคุมความหนา ของสีเคลือบผิววัสดุ การตรวจสอบรอยต่อของวงจรใน ICs และใช้ตรวจสอบกระบวนการ และผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม และการควบคุมคุณภาพการผลิต (QC) ได้ด้วย
คลื่นเทระเฮิรตซ์ยังใช้ตรวจสอบโครงสร้างและแยกแยะองค์ประกอบทางเคมีอย่างเฉพาะเจาะจงได้ จึงใช้กับผลิตภัณฑ์ด้านเภสัชกรรม และด้านชีวการแพทย์ ได้ แต่ความโดนเด่นของเทคโนโลยีนี้ ซึ่งน่าจะเหมาะกับประเทศไทยเป็นอย่างมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ เหมาะมากกับวัสดุจำพวกอินทรีย์สาร อย่างสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ นั่นเอง เพราะไม่ทำอันตรายกับตัวอย่าง

8. Service Drone

alt

โดรน (drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ ก็คือ อากาศยานที่สามารถบิน และปฏิบัติงานได้โดยไม่ได้มีนักบินหรือคนบังคับอยู่ภายในตัวอากาศยานนั่นเอง ทั้งนี้โดรนนั้นสามารถถูกควบคุมได้หลายรูปแบบ โดรนที่ถูกใช้งานในภาคพลเรือนมีแนวโน้มการเติบโตสูงกว่าโดรนทางการทหารมาก มีการนำโดรนไปประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย ทั้งในด้าน การเกษตร การจัดการภัยพิบัติ (ในพื้นที่เข้าถึงยาก) การบริการถ่ายภาพทางอากาศ (โดยเฉพาะในพื้นที่หรือระดับความสูงที่เดิมเข้าไม่ถึง) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การตรวจสอบโครงสร้างขนาดใหญ่ ตลอดจนการสำรวจพื้นที่เพื่อใช้ในการตัดสินใจและวางแผนในการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นต้น
จุดเด่นของโดรนก็คือ ให้ภาพที่มีรายละเอียดสูงกว่าภาพถ่ายดาวเทียม และยังสามารถนำภาพเหล่านั้นมา reconstruct ใหม่ให้ได้เป็นภาพแบบจำลอง 3 มิติ (3D Model) ของสถานที่นั้นๆ ได้อีกด้วย เห็นได้ว่ายังมีช่องว่างให้นักธุรกิจ
และนักลงทุนในประเทศไทยอีกมาก รวมถึงยังมีโอกาสและช่องทางให้นักวิจัยและนักพัฒนาในประเทศไทยพัฒนาโดรนเพิ่มเติม เช่น โดรนที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกภายในอาคาร โดรนซึ่งสามารถยึดเกาะกับสิ่งของและบรรทุกของ รวมทั้งโดรนที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม หรือ Swarm Robot (มีการทดสอบใช้สร้างสะพานเชือกชั่วคราว) เป็นต้น
ในทางการแพทย์มีการใช้โดรนในการขนส่งยารักษาโรคไปส่งในบริเวณที่ขับรถไปได้ยากลำบากในฤดูฝนของประเทศในแอฟริกา หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง อะเมะซอน ประกาศจะใช้โดรนในการขนส่งสินค้าน้ำหนักไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม และที่หมายอยู่ห่างจากคลังสินค้าไม่เกิน 16 กิโลเมตร ส่วนเฟซบุ๊กก็มีแผนจะปล่อยโดรนพิเศษที่ปล่อยสัญญาณไวไฟได้ เพื่อให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และต้นปีนี้เองมีบริษัทที่ประกาศแผนงานจะใช้โดรนในการขนส่งคนด้วย ข้อจำกัดของโดรนในงานบริการก็คือ ข้อบังคับหรือกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุมความเสี่ยงจากการก่อการร้าย

9. Customized Stem Cell

alt

     เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าทึ่ง จนต้องนำมารวมไว้ในที่นี้อีกเรื่องก็คือ เทคโนโลยีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Customized Stem Cell หรือ เซลล์ปกติที่ชักนำกลับมาให้เป็นสเต็มเซลล์ได้ เรียกเซลล์ประเภทนี้แบบย่อๆ ว่าเป็น iPSC ความแตกต่างของเซลล์ทั่วไปกับ iPSC ก็คือ เราสามารถกระตุ้น iPSC ที่เป็นสเต็มเซลล์ ให้กลายไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้อย่างแทบจะไม่จำกัด จึงใช้ในงานตรวจวิเคราะห์ทดสอบแบบ high throughput ทั้งสำหรับการคัดกรองและทดสอบยาหรือวัคซีน หรือสารออกฤทธิ์อื่นๆ ได้ และยังใช้ตรวจสอบแบบ personalized medicine หรือ การแพทย์เฉพาะบุคคลได้ จึงถือเป็น platform technology ที่มีความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายต่ำ และลดการใช้สัตว์ทดลองได้
การรักษาเฉพาะบุคคล โดยใช้ iPSC เป็นแบบจำลองสำหรับทดสอบยาโดยใช้เซลล์ของคนไข้เอง ทำให้คนไข้หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาได้ ขณะนี้มีงานวิจัยที่ใช้ iPSC เพื่อศึกษาการรักษาโรคพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีนและโครโมโซม เช่น โรคทาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม และเฮโมฟีเลีย แล้ว
เทคโนโลยีการสร้าง iPSC เป็นผลงานของ ดร.ชินยะ ยามานากะ นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ชาวญี่ปุ่น โดยอาศัยการใส่สารพันธุกรรมที่พบมากในสเต็มเซลล์ของตัวอ่อนเข้าไปในเซลล์ร่างกายทั่วไป เช่น เซลล์ผิวหนัง หรือเซลล์เลือด สารพันธุกรรมจะไปเหนี่ยวนำให้เซลล์เปลี่ยนรูปไปเป็น iPSC เรียกว่าเกิดการโปรแกรมเซลล์ย้อนกลับ (cellular reprogramming) ผลงานนี้ทำให้ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2555 บริษัท Cellular Dynamics International พัฒนาเทคโนโลยีนี้ จนสามารถใช้ทดสอบความเป็นพิษของยา และ FDA ได้ยอมรับให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นวิธีการมาตรฐานแบบหนึ่ง สำหรับการพัฒนายาสำหรับโรคหัวใจได้ในปีที่ผ่านมา โดยสรุป สเต็มเซลล์แบบนี้ ทำได้ง่ายขึ้น กระบวนการทำก็ไม่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม เพราะเอาเซลล์ของเจ้าตัวมาทำ จึงเป็น “ยาเฉพาะบุคคล” หรือ personalized medicine ได้แบบหนึ่ง

10. CRISPR/Cas 9 (คริส-เป้อ-แคส-ไนน์)

alt

     เทคโนโลยีสุดท้ายที่จะกล่าวถึง เรียกว่า CRISPR/Cas9 เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก แต่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงจนวารสาร Science คัดเลือกให้เทคโนโลยีนี้เป็น Breakthrough of the year ในปีที่แล้ว เชื่อกันว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็น disruptive technology คล้ายๆ กับที่ DVD มาแทนที่ VCD เพราะทำได้อย่างมีความจำเพาะเจาะจงมากกว่า ทำได้ง่ายกว่า และใช้เวลาน้อยกว่า เทคโนโลยีนี้อาศัยความรู้ที่เลียนแบบ ระบบภูมิคุ้มกันของแบคทีเรียที่ใช้สู้กับไวรัสที่รุกรานเข้าไปในเซลล์ของพวกมัน ทำให้สามารถตัดหรือใส่ดีเอ็นเอที่ต้องการได้อย่างจำเพาะเจาะจง เทคโนโลยีนี้จึงช่วยด้านเกษตรกรรม โดยร่นระยะเวลาสร้างพืชหรือสัตว์ชนิดใหม่ๆ ทำให้มีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่หลากหลายมากขึ้น เพิ่ม food security ให้กับโลก เทคโนโลยีนี้จะทำให้ได้พันธุ์พืชและสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไป เช่น ต้านทานโรค/แมลง ทนร้อน และทนเค็ม ได้
ในสหรัฐอเมริกาไม่ถือว่าผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี CRISPR/Cas9 นี้ เป็น GMOs  เนื่องจาก ไม่เหลือยีนแปลกปลอมใดๆ หลังการเปลี่ยนแปลง แต่ในยุโรปยังไม่สรุปว่าผลิตภัณฑ์แบบนี้เป็น GMOs แบบหนึ่งหรือไม่ บริษัท Cibus ใช้เทคโนโลยีนี้กับยีนของ คาโนล่า (canola) ทำให้ทนต่อยาปราบวัชพืช และแคนาดายอมรับให้ขายได้แล้ว นักวิจัย Penn State’s College of Agricultural Science ใช้ CRISPR/Cas9 พัฒนา anti-browning mushroom ทำให้เก็บรักษาเห็ดได้นานขึ้น โดยไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และ USDA อนุญาตให้ผลิตเชิงการค้าได้ ส่วนบริษัท Dupont ก็ร่วมมือกับบริษัท Caribou Biosciences ของ University of California, Berkeley ใช้เทคโนโลยีนี้กับข้าวโพดทนแล้ง และข้าวสาลี ถั่วเหลือง มะเขือเทศ กับมันฝรั่ง เพื่อทำให้ต้านทานโรค โดยอยู่ในขั้นวิจัยระดับห้องปฏิบัติการ และคาดหมายว่า ในห้าปีต่อจากนี้ จะมีพืชพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากเทคโนโลยีนี้ออกสู่ตลาด สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีนี้ในงานวิจัยบ้างแล้ว โดยเฉพาะในโรคติดเชื้อสำคัญอย่างมาลาเรีย

บทสรุป จะเห็นได้ว่า 10 เทคโนโลยีที่ควรจับตามอง ในปีนี้ ครอบคลุมมิติของชีวิตอย่างหลากหลาย ไม่ต่างจากปีก่อนๆ ซึ่งท่านผู้ประกอบการน่าจะเห็นได้ว่า หลายเรื่องถือเป็นโอกาสที่น่าจะเข้าไปลงทุน ในขณะที่สำหรับคนทั่วไปก็คงเห็นได้ว่า เทคโนโลยีสมัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราควรต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมันให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง

หมายเหตุ สำหรับผู้อ่านที่สนใจจะชมคลิปวิดีโอการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “10 เทคโนโลยีที่ควรจับตามองสำหรับธุรกิจ” โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. นี้
สามารถเข้าไปชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ar8OYXBj6Mc

ข้อมูลภาพอ้างอิง
    •    http://www.bandt.com.au/information/uploads/2016/03/tesla-wall-charger-e1442438329238.jpg
•    http://www.drinksware.co.uk/uploads/Products/product_55/cornstarch-cups.jpg
•    http://solidsmack.com/wp-content/uploads/2013/09/igo3d_builder_3d-printer.jpg
•    http://3dprintingindustry.com/wp-content/uploads/2014/11/tno-3d-printing-food-spore.png
•    https://d1o50x50snmhul.cloudfront.net/wp-content/uploads/2016/05/gettyimages-145083512-800×533.jpg
•    http://i2.cdn.turner.com/money/dam/assets/160627163001-baubax-jacket-780×439.jpg
•    http://thenewstack.io/shapeshifted-things-4d-printed-materials-programmed-for-self-transformation/
•    http://www.sciencemag.org/sites/default/files/highwire/covers/350/6267/350-6267-cover.gif
•    https://media.licdn.com/mpr/mpr/AAEAAQAAAAAAAAe8AAAAJDE4NDJiNzUzLTEwZjUtNGZmMy1iZWVjLWM5NzdlYWZlOGY2Mg.jpg
•    http://www.fujitsu.com/global/Images/20110912-01a_tcm100-838802.jpg
•    https://www2.aofoundation.org/AOFileServerSurgery/MyPortalFiles?FilePath=/Surgery/en/_img/surgery/FurtherReading/PFxM2/2.3-3.jpg
•    https://pbs.twimg.com/media/ChB3I7qWYAAMNLg.jpg
•    https://rettsyndrome.files.wordpress.com/2012/10/nobel-2012.jpg
•    http://www.sciencemag.org/sites/default/files/highwire/covers/350/6267/350-6267-cover.gif

 

6 ต.ค. 2559
0
แชร์หน้านี้: