For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/eeci-welcomes-the-visit-of-moscow-delegation.html
(วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566) นาย Alexey Anatolievich Fursin รัฐมนตรีด้านการพัฒนาผู้ประกอบการและนวัตกรรมแห่งรัฐบาลกรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งรับผิดชอบภารกิจส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการสร้างสรรค์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรุงมอสโกด้วยนวัตกรรม นำคณะฯ ลงพื้นที่สำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยมี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สวทช. ให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมร่วมกัน ทั้งนี้ ได้มีผู้แทนจากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำระดับประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ร่วมนำเสนอข้อมูลด้วย ทั้งนี้หลังการนำเสนอภาพรวมการดำเนินการพื้นที่ EECi เสร็จสิ้น ดร.เจนกฤษณ์ ได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายในพื้นที่ ดังนี้
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center, SMC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนวัตกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) มีภารกิจหลักในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0
โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้และการทดลองปฏิบัติจริง รวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรม
โรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) เพื่อสนับสนุนด้านนวัตกรรมการเกษตรของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (EECi BIOPOLIS) ภายในปลูกพืชสมุนไพร อาทิ ฟ้าทะลายโจร บัวบก ขมิ้นชัน และกระชายดำ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งทดสอบการปลูกพืชมูลค่าสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลผลผลิต และวิธีการผลิตที่เหมาะสมในเชิงพาณิชย์
EECi ถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศด้วยการปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีผ่านการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับงานวิจัยขยายผล (Translational Research) ตลอดจนการปรับแปลงเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เข้ากับบริบทของไทย (Technology Localization) สำหรับกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ EECi มีพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ภายในพื้นที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนา โดยในปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเปิดให้บริการ ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน และโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ และจะทยอยเปิดโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาทิ โรงเรือนฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse) โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery Pilot Plant) และโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ทางเลือก (Alternative Battery Pilot Plant) ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการโดย สวทช. แล้ว ภายในพื้นที่ EECi ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งดำเนินการโดยพันธมิตร อีก 3 รายการ ประกอบด้วย (1). สนามทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ ดำเนินการโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (2). เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 4 ระดับพลังงาน 3 กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตอน (องค์การมหาชน) และ (3). สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ ดำเนินการโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา EECi ให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผ่านการพัฒนาคลัสเตอร์นวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทใหญ่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันวิจัย สถาบันศึกษา และภาคประชาสังคม รวมถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศให้กับหน่วยงานและผู้ประกอบการในประเทศไทย