สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการแพทย์และสุขภาพ ระหว่างวันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม zoom
หลักสูตรออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับความสามารถในการแข่งขันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ตามบริบทของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพ “คุณครู” ผู้ถ่ายทอดความรู้ โดยนำเนื้อหาความรู้พื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเชื่อมโยงสู่ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) หรือ การแพทย์แม่นยำ และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ” ผ่านสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมที่หลากหลาย นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสู่โครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ต่อไป ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นครูในระดับมัธยมศึกษา ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 80 โรงเรียน จำนวน 160 คน
โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวเปิดการอบรม พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ร่วมกล่าวต้อนรับ
เริ่มการอบรมเชิงปฏิบัติการด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เสริมพลังเชื่อมโยงสู่ศาสตร์การเรียนการสอน โดย ดร.กมลรัตน์ ฉิมพาลี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนถนนหักพิทยาคม
และการบรรยายหัวข้อ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ส่วนสำคัญของการสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดย ภญ. ดร.กนกวรรณ ศันสนะพงษ์ปรีชา นักวิจัย ทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้ยกตัวอย่างผลงานวิจัย อิมัลเจลที่มีส่วนประกอบของอนุภาคนาโนอิมัลชันบรรจุสารสกัดจากเหง้าขิงและอนุภาคนาโนทองคำ เพื่อยับยั้งการอักเสบและสมานแผล ที่สามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ผลักดันเพิ่มคุณค่าสมุนไพร พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชน ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหลักการอิมัลชันดังกล่าวผู้เข้าอบรมจะได้ทำการทดลองในวันสุดท้ายของการอบรม
ต่อด้วยการบรรยาย จาก ร.ต.ท.หญิง แพทย์หญิง อติพร เทอดโยธิน หัวข้อ เส้นทาง การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สู่การเป็นแพทย์ และอาจารย์แพทย์ และ กิจกรรมเรียนรู้ระบบร่างกาย และภูมิคุ้มกันสร้างสุข สุขภาพดี อย่างยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการแพทย์ เนื้อหาเชื่อมโยงสาระสำคัญที่เกี่ยวกับกระบวนการสรีรวิทยาของระบบหมุนเวียนโลหิตและระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ รวมถึงการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านพันธุศาสตร์กับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ หลอดเลือด องค์ประกอบของเลือด หมู่เลือด โรคทางพันธุกรรมผ่านกิจกรรม สื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ชุด เชอร์ล็อก โฮมส์ กับคดีปริศนา ประยุกต์เข้ากับการแพทย์และนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการไขคดีปริศนา ซึ่งเนื้อหาสามารถนำไปเสริมการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้น่าสนใจและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
วันที่ 2 ของการอบรมเริ่มด้วยการบรรยายพิเศษ “การแพทย์จีโนมิกส์ โฉมหน้าใหม่ของการรักษาแห่งโลกอนาคต” ปูพื้นฐานภาพรวมการแพทย์โฉมใหม่ ที่เน้นการการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม ที่จำเพาะต่อผู้ป่วย และรักษาได้ตรงจุด โดย ศ. เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ต่อด้วยการบรรยายและกิจกรรม หัวข้อ เจาะลึกพันธุศาสตร์กับไวรัสโคโรน่า สู่การพัฒนาชุดตรวจและวัคซีน เพื่อเรียนรู้กลไกการทำงานของสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่า และการนำความรู้ทางพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ และพัฒนาวัคซีน เสริมด้วยกิจกรรมฝึกทักษะปฏิบัติการ การแยกสารด้วยชุดสื่อการเรียนรู้จำลองหลักการเคลื่อนที่ของสารบนเจลภายใต้สนามไฟฟ้า (Gel electrophoresis) โดย น.ส.สุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.
วันสุดท้ายของการอบรม เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับ นวัตกรรมเวชสำอาง ซึ่งเป็นการบรรยายปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีกับเครื่องสำอางและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดย รศ.ภญ.ดร.จิตติมา ลัคนากุล รองคณบดีฝ่ายพันธกิจสากลและวิรัชกิจ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกิจกรรมปฏิบัติการ เตรียม “Nano emulsions” และการประเมินผลิตภัณฑ์ โดย ผศ.ภญ.ดร.ดุษฎี ชาญวาณิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต และทีมวิทยากร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ในกลุ่มย่อยผ่านการทดลองปฏิบัติการอย่างสนุกสนาน ระดมสมองในกลุ่มย่อย และฝึกปฏิบัติการสร้างตำรับครีมทาผิว โดยใช้หลักการนาโนอิมัลชัน ซึ่งมีประโยชน์ทางเวชสำอาง เช่น ช่วยเพิ่มการดูดซึมของสารสำคัญผ่านผิวหนัง ช่วยกักเก็บน้ำในผิวหนัง ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นอย่างยาวนาน เป็นต้น โดยแลกเปลี่ยนผลงานผ่าน padlet พร้อมนำเสนอในรูปแบบ pitching และรับฟังคำแนะนำจากทีมวิทยากร
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมอบรม
“เป็นกิจกรรมที่ดีมาก สนุก สามารถนำมาประยุกต์กับโครงงานและบริบทชุมชนได้”
“อยากให้จัดทุกปี ถ้ามีโอกาส ทางโรงเรียนขอเข้าร่วมทุกปี”
“เนื้อหาและกิจกรรมจากการอบรม สามารถนำมาเขียนแผนการจัดการเรียนการสอนได้”
“การอบรมนำเสนอเนื้อหาชีววิทยาที่ยากและเยอะ ให้สนุก น่าสนใจ ในรูปแบบกิจกรรมและสื่อรวมถึงเทคนิคการใช้ quiz ในการสอน”