(30 มี.ค. 2566) ณ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานสัมมนาพิเศษเรื่อง “ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านโอมิกส์ที่นำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์แบบแม่นยำ และโอกาสของประเทศไทยในการเป็นผู้นำการส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชระดับโลก” เป็นการนำเสนอความพร้อมทางด้านข้อมูล QTL ที่สำคัญและเครื่องหมายโมเลกุลที่สามารถนำไปใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการคัดเลือกในพืชสำคัญของประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ พืชสมุนไพร (กัญชา กัญชง บัวบก) พืชผัก (แตง มะระ) และไม้ผล (มะพร้าว)
สวทช. ได้ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) อันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน (Global warming) ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนชื้นที่พื้นที่การเกษตรยังอาศัยน้ำฝนและความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศในการเพาะปลูก เช่น ในประเทศไทย ปรากฏการณ์โลกร้อนทำให้การเกษตรของไทยมีความเสี่ยงทางด้านการผลิตเป็นอย่างมาก นำไปสู่ประสิทธิภาพของการผลิตที่ลดลงหรือล้มเหลวในการผลิต
ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวเปิดงาน ภายในงานสัมมนาฯ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากร นำโดย ศ.เกียรติคุณดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “BCG กับ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย” ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย บรรยายเรื่อง “อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยและโอกาสของประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำการส่งออก” ดร.ศิริลักษณ์ จิตรอักษร ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร บรรยายเรื่อง “การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยไปสู่ผู้ผลิตระดับโลก” และ ศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายเรื่อง “เทคโนโลยีด้านการเกษตรระดับโลกและความพร้อมของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการเกษตรสู่การเกษตรแบบแม่นยำ”
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการในตำแหน่ง รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า เทคโนโลยีด้านโอมิกส์ที่นำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์แบบแม่นยำเป็นแนวทาง ในการแก้ไขที่สำคัญการพัฒนาพันธุ์พืชให้สามารถปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเวลา และพันธุ์พืชที่ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านโอมิกส์ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับจีโนมนำมาใช้ในการเพิ่มศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่โดยสามารถระบุยีน หรือ QTL ที่มีความสัมพันธ์กับลักษณะการปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ทนร้อน ทนหนาว ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ต้านทานต่อโรคแมลง เป็นต้น
และพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ ติดตามการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดเลือกที่แม่นยำและรวดเร็ว ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ต่างๆ เทคโนโลยีด้านการใช้โมเลกุลเครื่องหมายในการปรับปรุงพันธุ์และการแก้ไขพันธุกรรม นำไปสู่การพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะตามความต้องการอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้นักปรับปรุงพันธุ์สามารถพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ได้ในระยะเวลาที่สั้นลง ให้ผลผลิตสูงในพื้นที่จำกัด และปรับตัวได้ดีในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ด้วยภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เมล็ดพันธุ์เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป็นสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมาก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตร ซึ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถด้านปัจจัยการผลิต ซึ่งเมล็ดพันธุ์ก็เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เมล็ดพันธุ์สร้างผลกระทบ ทั้งในระดับเกษตรกรที่เน้นการทำเกษตรแบบประณีต ใช้พื้นที่ผลิตน้อยแต่ได้รายได้สูง อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยมีศักยภาพสูง โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (SEED HUB) เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นในระดับหมื่นล้านบาท
สวทช.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Seed Hub โดยการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เกิดการทำงานร่วมกัน ที่เรียกว่า Seed cluster ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา สวทช. สนับสนุนทั้งในเรื่องหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรม (Plant Germplasm Bank) ที่เป็นการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมระยะยาว สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่เมล็ดพันธุ์ ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและชุดตรวจวินิจฉัยต่อเชื้อก่อโรคพืชในอุตสาหกรรมผลิตเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีจีโนมในการวินิจฉัยตรวจสอบโรคและความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมสำหรับการส่งออกเมล็ดพันธุ์ และการใช้เทคโนโลยีจีโนมในการคัดเลือกพันธุ์ ซึ่งช่วยให้ภาคเอกชนส่งออกเมล็ดพันธุ์และพัฒนาพันธุ์ได้รวดเร็วขึ้น ดร.ธีรยุทธ กล่าวทิ้งท้าย
หลังจากนั้นช่วงบ่ายมี เสวนาพิเศษในหัวข้อ เรื่อง “เทคโนโลยีด้าน Omics กับความพร้อมของประเทศไทยในการผลักดันอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และการเกษตรมูลค่าสูง” ผู้ดำเนินการเสวนา ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดาและ ดร.วศิน ผลชีวิน นักวิจัย ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ (ไบโอเทค) ผู้ร่วมเสวนา ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ดร.ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ดร.ศิริพัฒน์ เรืองพยัคฆ์ นักวิจัยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว สำนักงานวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว สำนักงานวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.สามารถ วันชะนะ นักวิจัย ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ (ไบโอเทค) ดร.วินิตชาญ รื่นใจชน นักวิจัย ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ (ไบโอเทค) และ ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ (ไบโอเทค)