30 มีนาคม 2566 ห้องประชุม CC 308 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสัมมนาวิชาการภายใต้งานการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 หรือ NAC2023 ในหัวข้อ “ราชพฤกษ์อวกาศ” เมล็ดพันธุ์อวกาศสู่ต้นกล้าเพื่อการเรียนรู้” พร้อมส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ที่ปลูกโดยใช้เมล็ดที่ผ่านการท่องอวกาศนาน 7 เดือน ให้แก่สถาบันการศึกษา จำนวน 20 แห่งทั่วประเทศนำไปปลูก
เพื่อต่อยอดสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการศึกษาเปรียบเทียบการเติบโตระหว่างต้นราชพฤกษ์อวกาศที่ปลูกด้วยเมล็ดจากอวกาศกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ โดยมีดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายทาเคฮิโระ นากามูระ ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ ร่วมส่งมอบต้นราชพฤกษ์อวกาศ
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สวทช. ร่วมกับ JAXA และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด และ SPACETH.CO ร่วมกันดำเนินการโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) โดยแบ่งกิจกรรมย่อยออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทดลองปลูกโหระพาเปรียบเทียบระหว่างบนอวกาศกับบนพื้นโลก และโครงการราชพฤกษ์อวกาศ
“ในวันนี้ สวทช. ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รับ ‘ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ’ เฟสแรก รอบที่สอง โดยมีสถาบันการศึกษาที่ได้รับมอบต้นกล้าราชพฤกษ์จำนวน 20 แห่ง ประกอบด้วย ภาคกลาง โรงเรียนวัดบางแขม, โรงเรียนกว่างเจ้า, โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค สระบุรี, โรงเรียนร่มเกล้า กาญจนบุรี (ในโครงการพระราชดำริ) , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา ภาคเหนือ โรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม, มหาวิทยาลัยพะเยา , โรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ภาคอีสาน โรงเรียนสุรนารีวิทยา, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, โรงเรียนกัลยาณวัตร, โรงเรียนบ้านดินดำเหล่าเสนไต้, โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา และโรงเรียนกบินทร์วิทยา
ทั้งนี้หน่วยงานที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการราชพฤกษ์อวกาศในระยะต่อไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และเฟซบุ๊ก NSTDA SPACE Education