หน้าแรก สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ – สวรส. และพันธมิตร จัดประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย
สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ – สวรส. และพันธมิตร จัดประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย
1 พ.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 1 พฤษภาคม 2567) :  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมงานประชุมวิชาการประจำปี สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 3 “Harnessing Genomics Thailand to Better Public Health: THE TIME IS NOW”
โดยมี ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา นายกสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ และผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และผู้แทนองค์กร ผู้เกี่ยวข้องร่วมในพิธีเปิดงานประชุมฯ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 1-3 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 3 “Harnessing Genomics Thailand to Better Public Health: THE TIME IS NOW” ซึ่งโครงการ Genomics Thailand นี้เป็นความก้าวหน้าทางด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ และได้ใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาการแพทย์อย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อนำข้อมูลพันธุกรรมหรือข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ป่วยมาใช้ในการวินิจฉัยป้องกันรักษาทำให้การแพทย์มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคล นำมาสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการทางการแพทย์ในหลายโรค เช่น การป้องกันการแพ้ยาด้วยการตรวจยีน การป้องกันโรคมะเร็ง การคัดกรองทารกแรกเกิด เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดีขึ้นควรมีการนำนวัตกรรมด้านการแพทย์จีโนมิกส์มาใช้ระดับประเทศและจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมโดยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 โดยภายใต้แผนฯ นี้ ได้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกิดฐานข้อมูลพันธุกรรมไทย 50,000 คน ศูนย์สกัดสารพันธุรรม และยังมีแผนการพัฒนาบุคลากร จำนวน 750 คน รวมถึงการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานสำคัญให้เกิดบริการการตรวจ และการวินิจฉัยที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรม อย่างไรก็ตามหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาบริการที่ประชาชนเข้าถึง ด้วยการบรรจุการบริการใหม่ด้านการตรวจพันธุกรรมเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การตรวจยีนเสี่ยงมะเร็งเต้านม และ การตรวจยีนเพื่อป้องกันผื่นแพ้ยารุนแรง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนไทยทัดเทียมกับประเทศอื่น

“การประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 3 เป็นเวทีด้านวิชาการที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง นักศึกษา นักวิจัย และบุคลากรที่ต้องการใช้เทคโนโลยีจีโนมในการตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และเพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาในประเทศไทย ส่งเสริมให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนลดภาระด้านงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไทย”

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา นายกสมาคมมนุษยพันธศาสตร์ และผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริม การศึกษา งานวิจัย และนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์มนุษย์ รวมถึงกิจกรรมสนับสนุนเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเหมาะสมในด้านการศึกษาและวิจัยทางพันธุศาสตร์มนุษย์ เช่น แนวทางการพัฒนานโยบาย และแนวปฏิบัติที่คำนึงถึง ผลกระทบทางสังคมและจริยธรรม

โดยเนื้อหาของการประชุมจะสร้างบรรยากาศเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง นักศึกษา นักวิจัย และแพทย์ผู้สนใจในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีจีโนมเพื่อยกระดับคุณภาพสาธารณสุขไทย งานประชุมจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2567 โดยได้รับเกียรติ จากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมบรรยายจำนวน 56 ท่าน และมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างประเทศคือ Harvard Medical School, Kunming Institute of Zoology, Chinese Academy of Sciences และ Zhejiang University, School of Medicine ร่วมบรรยาย ในการประชุมครั้งนี้ด้วย

“ตลอดการจัดงานมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมที่สถานที่จัดงานและเข้าร่วมประชุมทางระบบออนไลน์ กว่า 300 ท่าน จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าทางด้านพันธุศาสตร์การแพทย์ของประเทศ ประสบการณ์ ผลการดำเนินงานของโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยที่ผ่านมา และการเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ของจีโนมิกส์ประเทศไทยทั้ง 5 กลุ่มโรค และ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมระดับประชากรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมถึงเวทีที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านชีวสารสนเทศที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย โดยมีผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานประชุมครั้งนี้คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชนอีกหลายบริษัท”
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยทำให้สังคมวงกว้างได้รับรู้ความก้าวหน้าของการของการดำเนินงานของโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ซึ่ง สวรส. เป็นหน่วยประสานงานกลางในการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำข้อมูลพันธุกรรมของประชากรไทยมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนระบบบริการการแพทย์ของประเทศ ให้เกิดมาตรฐานใหม่ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์แม่นยำได้อย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ในเวทียังได้มีการนำเสนอความก้าวหน้าทั้งในด้านการวิจัย การให้บริการ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนมเพื่อประโยชน์ทางคลินิก การพัฒนาด้านกฎระเบียบ กฎหมาย จริยธรรมและผลกระทบเชิงสังคม การประเมินเทคโนโลยีเพื่อความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การพัฒนาเชิงนโยบายด้านการแพทย์การสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต รวมทั้ง สวรส. ยังได้สนับสนุนการมอบรางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุขด้วยการแพทย์จีโนมิกส์ให้แก่ โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี ต้นแบบที่น่าสนใจในการทำงานด้านจีโนมิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายสถาบันวิจัยทางคลินิก/การบริการ และจากงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนในโครงการจีโนมิกส์ฯ นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแด่ผู้ปฏิบัติงานทางด้าน Genomics Thailand เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ได้แก่ ผศ.พิเศษ พญ.วิชญาภรณ์ เอมราช แซ่โง้ว และ นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ อีกด้วย

 

1 พ.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: