(วันที่ 11 มีนาคม 2567) ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดกิจกรรม “ปฐมนิเทศ: ยินดีต้อนรับสู่ สวทช.” โครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ครูวิทยาศาสตร์ฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน ปี 2567 ให้แก่นักเรียนและครูในโครงการฯ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายไปฝึกทักษะการทำวิจัยในแต่ละห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. โดยมีนักวิจัย สวทช. เป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำเป็นระยะเวลา 2 เดือน ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม จนถึง 9 พฤษภาคม 2567
ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเปิดกิจกรรมฯ ว่า สวทช. ได้ริเริ่มโครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน ตั้งแต่ปี 2561 เป็นปีแรก จนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 7 แล้ว ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมฝึกทักษะวิจัยรวมแล้วมากกว่า 350 คน และนับเป็นปีที่ 3 ที่มีครูวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ทักษะวิจัยนักวิจัย สวทช. ซึ่งการได้มาเห็นบรรยากาศของการทำงานในห้องปฏิบัติการวิจัยของนักวิจัยแบบมืออาชีพ ได้ร่วมลงมือปฏิบัติงานจริง ได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการวิจัย ซึ่งจะเป็นการช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการทำวิจัย อีกทั้งจุดประกายให้เห็นเส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ในอนาคตด้วย
สำหรับในปีนี้มีนักเรียนจากโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับคัดเลือกและยืนยันเข้าร่วมโครงการ รวมจำนวน 89 คน และมีครูวิทยาศาสตร์ จำนวน 9 คน รวมทั้งหมดมีผู้เข้าร่วมโครงการ 98 คนจาก 58 โรงเรียนทั่วประเทศ นักเรียนและครูจะอยู่ภายใต้การดูแลของนักวิจัย สวทช. ซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยงหลักดูแลให้คำปรึกษาจำนวน 28 คน และผู้ช่วยวิจัยในทีมอีกจำนวนหนึ่งช่วยดูแลเพิ่มเติม โดยศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค)
กิจกรรมในวันปฐมนิเทศครั้งนี้มีตัวแทนนักวิจัยมาร่วมต้อนรับและบรรยายหัวข้อ “ใจฟูไปกับงานวิจัย” โดย ดร.อุดม แซ่อึ่ง นักวิจัย ทีมวิจัยการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้สารชีวโมเลกุล กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และยังมีกิจกรรม “ปรับตัว เปิดใจ พบเพื่อนใหม่เส้นทางสายวิทยาศาสตร์” และ “แนะนำสถานที่ กฎระเบียบการเข้าพักบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนได้ทำความรู้จักและสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกันที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรตลอดระยะเวลา 2 เดือน นอกจากนี้มีนักเรียนที่เคยเข้าร่วมโครงการในปี 2566 ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเข้าร่วมฝึกทักษะวิจัยและประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ