โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประชากรทั่วโลก โรคเหล่านี้มักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่มักต้องทำงานเร่งรีบและแข่งกับเวลา ตัวอย่างโรค NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต ซึ่งล้วนเป็นภัยสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าโรค NCDs จะเป็นภัยที่น่ากลัว แต่เรายังสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ไทยสุข (ThaiSook)” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยกิจกรรมการแข่งขันแบบออนไลน์ และระบบการโค้ชแบบไฮบริด ทำให้ผู้ใช้สามารถดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น
“ไทยสุข” ช่วยให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องสนุก
เราจะเห็นได้ว่าโรค NCDs แทบทุกโรค ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการกินยา และต้องรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อีกทั้งบางโรคยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก เช่น ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกไตมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 200,000 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม สาเหตุของโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ และการรักษาให้หายขาดก็ยังมีความเป็นไปได้จากการค้นหาพฤติกรรมต้นเหตุ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้ตั้งแต่แรก ซึ่งหลายคนมักล้มเหลวในการดูแลสุขภาพเพราะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก น่าเบื่อ และขาดแรงจูงใจ แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อใช้แอปพลิเคชัน “ไทยสุข”
ดร.เดโช สุรางค์ศรีรัฐ นักวิจัยจากกลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สวทช. และทีมวิจัยได้พัฒนาและออกแบบแอปพลิเคชัน ‘ไทยสุข’ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยมุ่งเน้นให้ความรู้ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติ ให้ผู้ใช้สามารถติดตามและบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน เช่น การออกกำลังกาย ปริมาณการรับประทานผักและผลไม้ ปริมาณน้ำดื่ม ระยะเวลาการนอนหลับ เป็นต้น พร้อมกับสามารถดูรายงานผลการใช้ชีวิตในแต่ละสัปดาห์ และคำแนะนำที่เหมาะสมกับเราโดยอ้างอิงจากข้อมูลสุขภาพที่เราบันทึกไว้เพื่อให้เราดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ แอปฯ ยังมีระบบการแข่งขันออนไลน์ที่เพิ่มความท้าทายในการดูแลสุขภาพ ทำให้กลายเป็นเรื่องสนุก ผู้ใช้สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ ภายในแอปฯ กับเพื่อนหรือกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนซึ่งกันและกันในการดูแลสุขภาพ ที่สำคัญ แอปฯ ไทยสุขยังมีระบบการโค้ชแบบไฮบริด ที่จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ ให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตรงจุด ติดตามความก้าวหน้า และรายงานความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายสุขภาพของเรา ทำให้ผู้ใช้เห็นพัฒนาการของตัวเอง และมีกำลังใจในการดูแลสุขภาพจนบรรลุเป้าหมายได้
ขั้นตอนง่าย ๆ เริ่มต้นใช้งานแอปฯ ไทยสุข
แอปฯ ไทยสุขได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายและไม่ซับซ้อน ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้ แม้จะไม่เคยใช้งานแอปฯ สุขภาพมาก่อนก็ตาม นอกจากนี้ แอปฯ ยังมีฟีเจอร์หลากหลายที่ช่วยให้เข้าใจสุขภาพของตัวเองได้มากขึ้น ตั้งเป้าหมายและติดตามความก้าวหน้า ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพ พร้อมอัปเดตเคล็ดลับสุขภาพดี ๆ อยู่เสมอ
ขั้นตอนแรกเริ่มจากการดาวน์โหลดแอปฯ ไทยสุขจาก App Store หรือ Google Play Store ค้นหาคำว่า ไทยสุข หรือ ThaiSook จากนั้นลงทะเบียนเข้าใช้งานแอปฯ ไทยสุข ตามด้วยกรอกข้อมูลสุขภาพของเราในแต่ละวัน เช่น อาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย น้ำหนัก และการนอนหลับ เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว แอปฯ จะวิเคราะห์และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเราโดยอ้างอิงจากข้อมูลสุขภาพที่เราบันทึกไว้
สำหรับผู้ที่สวมใส่สมาร์ตวอตช์ ไทยสุขจะมีระบบเชื่อมต่อเพื่อดึงข้อมูลอัตโนมัติได้จาก iOS Health, Google Fit, Garmin Connect และยังมี “ไทยสุขวอตช์” ซึ่งเป็นสมาร์ตวอตช์ที่ทีมวิจัยออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อกับแอปฯ ไทยสุขได้โดยตรงไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อให้โค้ชดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ง่าย ในการพัฒนามุ่งเน้นราคาไม่แพง เพียง 1,000 บาท สามารถตรวจวัดข้อมูลสุขภาพ เช่น นับก้าวเดิน วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ข้อมูลการนอน
หากคุณกำลังมองหาแอปฯ ที่จะช่วยให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องง่ายและสนุก “ไทยสุข” เป็นคำตอบที่ “ใช่” ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือเคยใช้แอปฯ ดูแลสุขภาพมาก่อน ลองดาวน์โหลดแอปฯ ไทยสุขมาใช้ แล้วคุณจะพบว่าการมีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ Thaisook ได้ทั้งระบบ Android และ iOS
สำหรับหน่วยงานที่สนใจใช้แอปฯ ไทยสุขเป็นเครื่องมือช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรในองค์กร สามารถติดต่อได้ที่ Facebook: Thaisook ไทยสุข หรือ Line ID: @thaisook
เรียบเรียงโดย ปริทัศน์ เทียนทอง ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ และวัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.