หน้าแรก สวทช. ยกระดับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ – อุทยานวิทย์ทั่วประเทศ ติดปีก ‘สตาร์ทอัพ’ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
สวทช. ยกระดับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ – อุทยานวิทย์ทั่วประเทศ ติดปีก ‘สตาร์ทอัพ’ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
22 พ.ย. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(22 พฤศจิกายน 2561) โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี แถลงข่าวความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพการจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ภายใต้ชื่อ “โครงการยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วย Maturity Model” โดยมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ภายใต้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยนำร่อง

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยการพัฒนา “วิสาหกิจเริ่มต้น” ให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior: NEW) และกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการเติบโตของอาเซียน โดยได้กำหนดแนวทางส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของไทย มีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นให้ใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค รวมทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ

ทั้งนี้ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Business Incubator) มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ช่วยสร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ส่งเสริมการนำผลการวิจัยพัฒนาเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ

ดังนั้น คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ซึ่งมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธาน มอบหมายให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินการรวบรวมติดตามผลการดำเนินการของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยศึกษาแนวปฏิบัติและกรณีศึกษาของนานาประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบและกระบวนการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ

ในวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นโครงการยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ด้วย Maturity Model” เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม อุทยานวิทยาศาสตร์ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ช่วยสร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ส่งเสริมการนำผลการวิจัยพัฒนาเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งความร่วมมือนี้และในอนาคตอันใกล้จะทดลองประยุกต์ใช้โมเดลดังกล่าวกับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5 แห่งด้วย

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตจะมีขั้นตอนและวิธีการยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วย Maturity Model พร้อมด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมด้านการบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญระดับสูงและระดับโลกที่มีประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี มากกว่า 50 ประเทศ มาเป็นที่ปรึกษา พร้อมให้ข้อเสนอแนะและรูปแบบการทำงานเพื่อยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์แต่ละแห่งอีกด้วย

นางสาวทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กล่าวว่า สอว. มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในภูมิภาคเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนา นำทรัพยากรของรัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่และสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการฐานธุรกิจเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน โดยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ปัจจุบัน สอว. สนับสนุนการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ผ่าน 5 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนงานพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน แผนงานพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งในการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 3 แห่ง มีหน่วยงานในการดำเนินการบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน โดยการดำเนินงานในแผนงานบ่มเพาะธุรกิจ วทน. เป็นการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจแบบหนึ่งให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้ วทน. เป็นฐานในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ฐานธุรกิจเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านกระบวนการสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์นั้น จะสามารถลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในระยะแรก เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าใช้จ่ายในการเสริมศักยภาพทางธุรกิจและเทคโนโลยี รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีโอกาสรอดและเติบโตสูงเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพมีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้น ในหลายประเทศจึงเลือกใช้อุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนและสร้างผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราความล้มเหลวในช่วงแรกของการจัดตั้งธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและคงอยู่ตลอดไป รวมถึงบริษัทที่อยู่ระหว่างการดำเนินธุรกิจที่ต้องการให้ธุรกิจขยายตัวอย่างมีทิศทาง เป็นการสร้างงานและความมั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติ

สำหรับผลจากความร่วมมือในโครงการยกระดับการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจด้วย Maturity Model นี้ จะมีส่วนช่วยในการสร้างกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการบริหารจัดการของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทั้งในส่วนของการพัฒนากระบวนการดำเนินงานบ่มเพาะธุรกิจ วทน. และในส่วนของการวางแผนและนโยบายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากความร่วมมือในโครงการฯ ดังกล่าว มาปรับใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วทน. ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของประเทศต่อไป

22 พ.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: