วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้โครงการการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย หรือ Thailand CCUS Alliance (TCCA) สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มหน่วยงานภาคเอกชนและอุตสาหกรรม โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง คือ กิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing Session) ในช่วงเช้า และกิจกรรมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มหน่วยงานภาคเอกชนและอุตสาหกรรม (Focus Group Meeting) ในช่วงบ่าย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานให้ทุน ทั่วประเทศรวม 46 หน่วยงาน/บริษัท จำนวน 123 คน
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติทำหน้าที่ประธานดำเนินรายการในช่วงประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนภาคอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ
คุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมในช่วง Knowledge Sharing Session โดยวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ทั้งจากภาคการศึกษา และภาครัฐ ประกอบด้วย
ศ. ดร.วรงค์ ปวราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สส.)
คุณศิริพร ภาวิขัมภ์ หัวหน้ากลุ่มงานการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC)
ภายใต้การดำเนินกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ยังได้มีการนำเสนอผลและแผนการดำเนินงานของโครงการ TCCA โดย ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ หัวหน้าโครงการ และผู้แทนคณะทำงานฯ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ร่วมด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อคิดเห็นร่วมกับภาคอุตสาหกรรม นำโดยผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาของโครงการ TCCA ประกอบด้วย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศษฐกิจหมุนเวียน บพข.
กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างระบบและกลไกการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งในรูปแบบภาคี เครือข่าย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา ที่มีพันธกิจร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี ด้าน Carbon capture, utilization and storage (CCUS) เพื่อลดการปล่อย CO2 ตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย โดยเน้นรับฟังสถานภาพด้านการประยุกต์ใช้ CCUS Technology และความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ภายใต้กิจกรรม มีการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานด้านแผนนโยบายและการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS โดยตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมแต่ละบริษัท อาทิเช่น CO2 capture Utilization Without Hydrogen, CO2 VSA Technology, Blue Hydrogen and Blue Ammonia, CO2 Storage: Saline Aquifer Carbon offset with projects or credits เป็นต้น ตลอดจนโอกาสในการร่วมขับเคลื่อนเครือข่าย TCCA และความต้องการให้เครือข่าย TCCA ส่งเสริมหรือสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งความต้องการการสนับสนุนด้านประสานงานกับหน่วยงานด้าน CCUS กับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จากการประชุม มีข้อสรุปสำคัญ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเครือข่าย TCCA ได้แก่ 1.บทบาทของภาคอุตสาหกรรมในการรวมกลุ่มผลัดดันเทคโนโลยีด้าน CCUS และการเป็นแหล่งให้ความรู้ หรือ site visit เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับภาครัฐและภาคการศึกษา 2.บทบาทในการดำเนินงานด้านแผนนโยบายในการผลักดัน CCUS Technology รวมถึงการหา Solution และ Model ที่เหมาะสมให้กับประเทศไทย 3.แนวทางการขอรับทุนด้าน CCUS Technology และ Industrial Decarbonization จากในและต่างประเทศ โดยการบูรณาการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา-สถาบันวิจัย
ทั้งนี้คณะทำงานโครงการมีแผนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ร่วมกันทั้ง 3 กลุ่ม (หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม) อีกครั้ง เพื่อตกผลึกข้อมูลและข้อคิดเห็นให้คมชัด และครอบคลุมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานรวมทั้งวางแผนการลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายใต้โครงการ TCCA เพื่อส่งมอบผลงานให้ได้ตามเป้าหมายของโครงการ ในลำดับต่อไป