หน้าแรก ‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์
‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์
31 ต.ค. 2565
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ

‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

Thailand Tech Show เป็นงานที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เวทีนำเสนอผลงานวิจัยพร้อมใช้จาก สวทช. และพันธมิตรหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาจากทุกภาคของประเทศ ในรูปแบบตลาดเทคโนโลยี ผู้ซื้อพบผู้ขายเพื่อสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี และ Tech Startup รวมทั้งเป็นเวทีเชื่อมโยงการลงทุนในรูปแบบใหม่ และแหล่งทุนที่เหมาะสม สำหรับเป็นกลไกในการเร่งสร้างนวัตกรรม และต่อยอดให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้นในวงกว้าง

สำหรับงาน Thailand Tech Show 2022 มีการจัดงานร่วมกับ APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz ภายใต้แนวคิด ผสานพลังวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน (Synergizing STI to Sustainable Business) ซึ่งภายในงานนอกจากแสดงผลงานทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมวิจัยที่พร้อมต่อยอดธุรกิจจำนวนมากแล้ว ปีนี้ยังมีกิจกรรมการมอบ “กิตติกรรมประกาศความสําเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยี” ให้แก่ผลงานวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 7 ผลงาน ซึ่งเข้าร่วมจัดแสดงผลงานในงาน Thailand Tech Show ในปีที่ผ่านมา (ปี 2019-2020) และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปผลิตเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ส่วนจะเป็นผลงานวิจัยเรื่องใดบ้างนั้นมาติดตามกัน

 

‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

1 ยางธรรมชาติดัดแปร

การใช้งานยางพาราในอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีปัญหาเรื่องของสมบัติของยางธรรมชาติที่มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่ทนสารอินทรีย์ กลิ่นแรง สีเข้ม ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ท่อหรือสายยางลำเลียงสารเคมี ผลิตภัณฑ์ที่เน้นสีสัน เช่น ผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก อีกทั้งยังเข้ากับซิลิกาได้ไม่ดีทำให้ต้องใช้สารควบคู่ร่วมด้วยทุกครั้ง รศ.ดร.เพลินพิศ บูชาธรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนา ‘กรรมวิธีการปรับคุณสมบัติน้ำยางธรรมชาติ’ ให้ทนต่อสารละลายอินทรีย์ มีสีจาง ไม่มีกลิ่นแรง และมีลักษณะเป็นผง สามารถเข้ากับสารตัวเติมเสริมแรงต่างๆ เช่น ซิลิกา และกราฟีนออกไซด์ได้ดี โดยไม่ต้องใช้สารควบคู่ ไม่เกิดเชื้อราเมื่อจัดเก็บระยะเวลานานเท่ากับยางธรรมชาติทั่วๆ ไป ปัจจุบัน บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 

‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

2 ชิ้นงานเชื่อมสำหรับการตรวจสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

เทคโนโลยีการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย (Non–Destructive Testing) หรือการทดสอบความสมบูรณ์ของแนวเชื่อม โดยไม่ทำลายแนวเชื่อมนั้น ด้วยหลักการของสมบัติทางฟิสิกส์ เช่น รังสี หรือ คลื่นเสียงความถี่สูงได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ภาชนะรับแรงดัน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง นายสมศักดิ์ ปามึก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้วิจัยและออกแบบสร้าง “ชิ้นงานเชื่อมสำหรับตรวจสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง” เป็นการสร้างจุดบกพร่องแบบขาดการหลอมละลายด้านข้างระหว่างขอบของรอยต่อชิ้นงานกับเนื้อเชื่อม (Lack of Fusion) ด้วยการเชื่อมทับแผ่นเหล็กขนาดเล็กทับลงบนตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อให้เกิดชั้นอากาศด้านในรอยต่อแล้วเชื่อมทับด้วยการเชื่อมทิกและทำการเจียรไนเรียบ เมื่อนำไปตรวจสอบด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ด้วยหัวตรวจสอบแบบมุมพบว่าให้สัญญาณสะท้อนสูงและไม่มีสัญญาณอื่นแทรกซ้อน และมีคุณภาพใกล้เคียงกับชิ้นงานที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบัน บริษัท มิตรเจริญเคเบิลเวอร์คส์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 

 

3 ระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราว (TIB)

เป็นนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบใหม่ สามารถพัฒนาพืชที่มีศักยภาพเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ ซึ่งหลักคือการเลี้ยงต้นไม้ในอาหารเหลว ที่มีฮอร์โมนพืชช่วยในการเพิ่มปริมาณต้น เป็นระบบการขยายพันธุ์พืชแบบใหม่ ที่แทนที่ระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชแบบเดิม (อาหารแข็ง) วิธีนี้สามารถนำมาใช้ในระบบการผลิตต้นพืชในระดับอุตสาหกรรม เพราะสามารถผลิตต้นพืชได้จำนวนมาก อัตราการรอดสูง ปลอดโรคและไม่กลายพันธุ์ ปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อะกรี-เทค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 

‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

4 ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกลายแบบ 3 มิติ (สำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน)

งานด้านการพิสูจน์หลักฐานมีความสำคัญอย่างมากในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แต่เทคนิคการตรวจพิสูจน์หลักฐานที่ใช้อยู่ยังเป็นการถ่ายภาพ การลอกรอยด้วยการปัดผงฝุ่นเพื่อลอกรอยนิ้วมือแฝง ซึ่งได้ผลเป็นภาพ 2 มิติ ที่มีข้อจำกัดในการตรวจพิสูจน์ ขณะเดียวกันวิธีการหล่อปูนพลาสเตอร์เป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างภาพวัตถุพยานแบบ 3 มิติ แต่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน แม้ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ยางซิลิโคนในการลอกลาย ก็ยังต้องใช้เวลาขึ้นรูปนานและมีราคาแพง ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี และคณะวิจัย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 พัฒนา “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกลายแบบ 3 มิติ” มีลักษณะการใช้งานคล้ายยางกึ่งสำเร็จรูป เมื่อใช้น้ำร้อนยางจะนิ่มและแข็งขึ้นเมื่อเย็นลง ทำให้ปั้นได้ด้วยมือและลอกลายตามพื้นผิวต่างๆ ได้ ปัจจุบัน บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 

‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

5 ตัวนำส่ง ‘สารสกัดถั่งเช่า’ เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม

ด้วยสมบัติของสารสกัดถั่งเช่าไม่ว่าจะเป็นการละลายน้ำยาก ดูดซึมได้น้อย และต้องใช้สารปริมาณมากจึงจะได้ประสิทธิภาพสูง เป็นโจทย์ท้าทายในการพัฒนาสารสกัดถั่งเช่าสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดร.คทาวุธ นามดี และทีมวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ได้พัฒนา “ตัวนำส่งสารคอร์ไดซิปิน หรือสารสกัดถั่งเช่า” โดยสังเคราะห์เป็นไมโครเอนแคปซูเลชันที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บสารสกัดถั่งเช่า และมีความคงทนเมื่ออยู่ในสภาวะกรดหรือมีสภาวะเสมือนในกระเพาะอาหาร และสามารถปลดปล่อยไลโปโซมที่เก็บกักสารสกัดถั่งเช่าเมื่อค่า pH (ความเป็นกรด-ด่าง) เพิ่มขึ้นหรือมีสภาวะเสมือนในลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งสารออกฤทธิ์ไปยังเป้าหมาย ทั้งนี้ปกติสารสกัดถั่งเช่าจะถูกดูดซึมได้น้อยเพียง 5-10% แต่เมื่อนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยกักเก็บอนุภาค สามารถเพิ่มศักยภาพการดูดซึมได้ถึง 30-40% ปัจจุบัน บริษัท ไฮบาลานซ์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 

 

‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

6 อนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งบัวบก มังคุด กานพลูสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง

ทราบกันดีว่าสารสกัดบัวบก สารสกัดเปลือกมังคุด และน้ำมันกานพลู เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติโดดเด่นทั้งทางชีวภาพและทางเภสัชศาสตร์ คือการลดรอยดำ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ในกลุ่มของ Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นสาเหตุก่อให้เกิดสิว  ดร.สุวิมล สุรัสโม และทีมวิจัย จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)  สวทช. พัฒนาอนุภาคนาโนที่กักเก็บสารออกฤทธิ์บัวบก มังคุด กานพลู โดยอนุภาคสามารถกักเก็บสารสำคัญได้หลากหลายรูปแบบ และมีความคงตัวดี นำไปขึ้นรูปเป็นสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้ในการเตรียมสูตรเภสัชภัณฑ์ใช้ภายนอกร่างกาย ปัจจุบัน บริษัท สมาร์ค เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

 

 

‘7 เทคโนโลยี’ คว้าใจผู้ประกอบการรับต่อยอดเชิงพาณิชย์

 

7 Minimal Lab เทคโนโลยีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ

การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ นับเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร และนายสันติ รัตนวารินทร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. พัฒนา “Minimal Lab” ระบบเฝ้าระวังและติดตามการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้เทคโนโลยีแสงในการตรวจสอบ Growth Curve และใช้ IoT ในการสื่อสารกับผู้ใช้งาน ระบบจะบันทึกข้อมูลการเติบโตของแบคทีเรียลงในฐานข้อมูลแบบอัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลแบบ Real-time ได้จากสมาร์ตโฟนหรือส่งให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งผู้ใช้งานยังปรับเปลี่ยนการทำงานของเครื่องโดยการสั่งผ่านสมาร์ตโฟนได้ เครื่อง Minimal Lab นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ การตรวจเชื้อปนเปื้อนในอุตสาหกรรมอาหาร หรือตรวจติดตามภาวะดื้อยาในอุตสาหกรรมยา ปัจจุบัน บริษัท วินัยเอ็นจิเนียริ่ง อินดัสตรี (1997) จํากัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี


เรียบเรียงโดย : วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

แชร์หน้านี้: