หน้าแรก เอ็มเทคพัฒนา “Well-Living Systems” ระบบดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยของลูกหลาน
เอ็มเทคพัฒนา “Well-Living Systems” ระบบดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยของลูกหลาน
12 เม.ย. 2565
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

For English-version news, please visit : Well-Living Systems to support independent living for seniors

Well-Living Systems

 

ผ่านพ้นมาไม่นานสำหรับ “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือ วันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายนของทุกปี วันสำคัญที่ชักชวนให้คนไทยหันมาใส่ใจผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งเฉพาะในปี 2565 นี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่าเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นการเร่งปรับตัว และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างมาก

ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนา “ระบบดูแลผู้พักอาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย หรือ Well-Living Systems” เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัยและอุ่นใจมากขึ้น

 

ดร.สิทธา สุขกสิ นักวิจัยทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช.
ดร.สิทธา สุขกสิ นักวิจัยทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช.

ดร.สิทธา สุขกสิ นักวิจัยทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยเอ็มเทคได้พัฒนาระบบ Well-Living Systems ที่จะเข้ามาเป็น “ผู้ช่วย” ของลูกๆ หลานๆ ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้านภายใต้แนวคิด “ทุกคนที่บ้านสบายดี (All is well at home)” เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทั้งผู้ใหญ่ที่บ้านและลูกหลานที่ต้องออกไปทำงาน โดยระบบมีศูนย์กลาง LANAH (Learning and Need-Anticipating Hub) ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ LANAH AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย และแจ้งเตือนผู้ดูแลเมื่อผู้สูงอายุเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ผ่านแอปพลิเคชัน LANAH App เพื่อช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย

“ระบบจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ (Sensors) ที่ไม่มีกล้อง ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย เพราะทีมวิจัยมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เน้นสร้างความมั่นใจว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือได้ทันที เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย สร้างความสบายใจ ลดการพึ่งพาผู้ดูแล สนับสนุนการเป็น “สูงวัยอย่างมีคุณภาพ หรือ Active aging” ให้ได้นานที่สุด”

 

Well-Living Systems

 

ดร.สิทธา กล่าวว่า สำหรับการทำงานของระบบแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. กรณีไม่ฉุกเฉิน ใช้ AI เรียนรู้รูปแบบพฤติกรรมกิจวัตรประจำวันของผู้อยู่อาศัยเพื่อบ่งบอกถึงปัญหา ซึ่งมีตัวอย่างอุปกรณ์ 4 ระบบในแอปพลิเคชัน ได้แก่ 1) Occupancy sensor เครื่องมือสังเกตการณ์บุคคลที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ของบ้าน เรียนรู้พฤติกรรมการใช้เวลาในบ้านของผู้อยู่อาศัย เช่น ช่วงสายวันอาทิตย์มักมีคนอยู่ในครัว 2) Door sensor เรียนรู้พฤติกรรมการเปิด-ปิดประตูต่างๆ เช่น ปกติประตูห้องน้ำถูกเปิดกี่ครั้งในช่วงดึก 3) Gate sensor ใช้สังเกตระยะเวลาการเข้าไปแต่ละพื้นที่ เช่น ระยะเวลาการอยู่ในห้องน้ำปกติหรือนานกว่าปกติ และ 4) Logger ปุ่มกดช่วยบันทึกเวลาการทำกิจกรรม เช่น เวลากินยา และช่วยเตือนเมื่อผู้อยู่อาศัยอาจลืม ด้วยการส่งเสียงผ่าน Wireless Speakers

ส่วนกรณีฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ได้แก่ 1) Emergency Button ปุ่มฉุกเฉินขนาดเล็กที่พกพาได้สะดวก ใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลที่อยู่ไกล 2) Bell กระดิ่งเรียกคนอื่นในบ้าน และแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลที่อยู่ไกล 3) Fall detection sensor ช่วยตรวจจับเมื่อผู้อยู่อาศัยเกิดการหกล้ม เป็นอุปกรณ์รูปแบบสวมใส่ หรือติดผนังแบบไม่มีกล้อง เหมาะใช้งานในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ห้องน้ำ และแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือ 4) Check-In ผู้อยู่อาศัยใช้ทักทายคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่อยู่ไกลแบบเงียบๆ ไม่รบกวนเวลา 5) Wireless Speakers ลำโพงไร้สายที่วางได้ทุกที่ในบ้านทำงานร่วมกับ LANAH App เพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้รับฟังข้อความเสียงจากผู้ดูแลที่อยู่ไกลมาที่บ้านในกรณีฉุกเฉิน”

 

Well-Living Systems

Well-Living Systems

Well-Living Systems

Well-Living Systems

Well-Living Systems

Well-Living Systems

 

ดร.สิทธา กล่าวว่า ปัจจุบันระบบ LANAH App และอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการและขยายผลสู่ภาคสนาม ซึ่งกำลังมองหาพาร์ทเนอร์เพื่อทดสอบการใช้งานจริง โดยคาดว่าจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ทั้งนี้ตัวระบบนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายแบบ เช่น บ้านผู้สูงอายุ คอนโดที่มีผู้อยู่อาศัยคนเดียว สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาล ซึ่งหวังว่าระบบที่พัฒนาขึ้นจะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาผู้ดูแล และช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในที่พักอาศัยที่อุ่นใจและปลอดภัย

นับเป็นตัวอย่างผลงานการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไทยจาก สวทช. ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) วาระแห่งชาติ ที่มุ่งส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยและเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

BCG Economy Model

แชร์หน้านี้: