สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้เข็มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยใช้จริงในทุกภาคส่วน ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของชาติ และนำพาประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ในปี 2566 สวทช. ระดมบุคลากรจากหลายส่วนงานมาร่วมขับเคลื่อนและผลักดันยุทธศาสตร์ NSTDA Core Business โดยเพิ่มบทบาททำงานเชิงรุก เพื่อต่อยอดสมรรถนะหลักขององค์กรสู่การใช้ประโยชน์จริงผ่านเครือข่ายพันธมิตร สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั้งประเทศนับล้านคน และนำมาสู่การสร้างรายได้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม
สวทช. ผลิตผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน นำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 46,698 ล้านบาท เกิดการลงทุนทางด้าน วทน. มูลค่า 15,196 ล้านบาท
สวทช. ยกระดับอุตสาหกรรมด้วยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีมากกว่า 83,742 รายการ
ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สวทช. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมนำไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์
สวทช. พัฒนาศักยภาพเกษตรกรและชุมชนให้เข้มแข็ง โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ 14,200 คน เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
สำหรับการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัยให้แก่ประเทศ สวทช. สนับสนุนบัณฑิตและนักวิจัยอาชีพ ผ่านการให้ทุน รวม 713 คน และส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ และค่ายวิทยาศาสตร์ โดยมีเยาวชนและครูเข้าร่วม 10,264 คน
ในปี 2566 สวทช. ผลิตผลงานวิจัยเด่น อาทิ
- ชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตร
ประกอบด้วย ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืช และ ชีวภัณฑ์ควบคุมวัชพืช
รวมทั้งจัดทำคู่มือการจัดการศัตรูด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจรสำหรับทุเรียนและถั่วฝักยาว โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ ช่วยลดการนำเข้าและลดการใช้สารเคมี ลดปัญหาสารเคมีตกค้าง ยกระดับการผลิต และเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรของประเทศ
- “Rachel” ชุดบอดี้สูทช่วยในการเคลื่อนไหวสำหรับผู้สูงอายุ
ใช้สวมใส่ตลอดวัน ช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากกิจวัตรประจำวัน ปัจจุบันได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และเตรียมขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
- ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ HandySense
เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูก ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างน้อย 20%
ปัจจุบันมีศูนย์ต้นแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมาร์ตฟาร์มมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ และประกาศเป็นเทคโนโลยีแบบเปิด เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์
- ชุดตรวจวัดโลหะหนักในพืชสมุนไพรและน้ำ สำหรับวิเคราะห์สารปนเปื้อนในรูปแบบต่างๆ มีความไวและความจำเพาะสูง ใช้งานง่าย ต้นทุนต่ำ สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม
- “EnPAT” น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากปาล์มน้ำมันไทย
ช่วยยกระดับการแปรรูปน้ำมันปาล์มสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
นอกจากนี้ สวทช. ยังมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศ โดยทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญา ประดิษฐ์ของรัฐบาล
อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระดับประเทศและจังหวัดนำร่อง มีจำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG สะสม ปี 2564 – 2565 รวมกันกว่า 6 แสนคน และมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG สูงขึ้นในจังหวัดนำร่อง เช่น จันทบุรีและราชบุรี
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมผลการดำเนินงานของ สวทช. ในปี 2566 ที่มุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้จริงในทุกภาคส่วน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นในทุกมิติ อย่างยั่งยืน