หน้าแรก ผลงาน ผลงานวิจัยเด่น แนวทางและกรอบการดำเนินงานในการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ของการไฟฟาส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
แนวทางและกรอบการดำเนินงานในการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ของการไฟฟาส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
7 ม.ค. 2564
0
ผลงานวิจัยเด่น

ที่มาความสำคัญ : การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency, EE) เป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดย สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development, WBCSD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบริษัทชั้นนำระหว่างประเทศ และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม (Earth Summit) เมื่อปี พ.ศ. 2535 ให้เป็นเครื่องมือการจัดการให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้นควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำว่า Eco-efficiency มาจากการรวมกันของคำว่า Ecology ที่แปลว่าระบบนิเวศ และ Economy ที่แปลว่าเศรษฐกิจ กับคำว่า Efficiency ที่แปลว่าประสิทธิภาพ เป้าหมายหลักสำคัญของ Eco-efficiency คือ การสร้างสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการปกป้องรักษาระบบนิเวศไปพร้อมๆ กัน ด้วยวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรและภาคธุรกิจทั้งการผลิตและการบริการ เพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่จำเป็นและสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน หากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือประชากรที่เพิ่มขึ้น นอกจากส่งผลให้มีการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือระดับสากลที่เป็นที่ยอมรับ สามารถนำมาช่วยในการประเมินความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยพิจารณาทั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ โดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นที่ปรึกษาให้กับ กฟภ. ในการจัดทำแนวทางและกรอบการดำเนินงานในการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อให้ กฟภ. นำไปปฏิบัติเพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขององค์กร

จุดเด่นของผลงาน/อธิบายรายละเอียดผลงาน : กฟภ. นำแนวทางและกรอบการดำเนินงานในการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ผ่านแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2562-2564)

แชร์หน้านี้: