หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า จุดกำเนิดยานยนต์สมัยใหม่ฝีมือคนไทย
ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า จุดกำเนิดยานยนต์สมัยใหม่ฝีมือคนไทย
9 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า จุดกำเนิดยานยนต์สมัยใหม่ฝีมือคนไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะ
ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและ
นวัตกรรม หรือ “ประเทศไทย 4.0”

ยานยนต์ไฟฟ้า” ก็คือทิศทางของเทคโนโลยีที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งพัฒนา เนื่องจากมีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคตอันใกล้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และได้กำหนดให้ยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ภายใต้ประเด็นวิจัยมุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่

เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่แบบครบวงจรในประเทศที่ผ่านมา สวทช. ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยอย่างกลุ่ม บริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จนปัจจุบันสามารถก้าวมาเป็นผู้ผลิตเรือและรถโดยสารจากโครงสร้างอะลูมิเนียมและมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถโดยสารไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า

สวทช. ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทสกุลฎ์ชี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโชคนำชัย กรุ๊ป เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ที่มีเป้าหมายคือ การพัฒนายานพาหนะสมัยใหม่

ทั้งนี้มีการส่งต่อเทคโนโลยีผ่านการลงนามความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) หน่วยงานในสังกัด สวทช. กับกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป จำกัด ในการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเรือและรถโดยสาร โดยการใช้กลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือTAP รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การยื่นขอรับการพิจารณาบัญชีนวัตกรรม และการลดภาษี 300%

จากปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมเรือคือ ไม่มีบริษัทออกแบบโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า หรือประกอบโดยอู่ต่อเรือที่ต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน ต้นทุนสูง ส่วนรถโดยสารขนาดเล็กก็เป็นการนำเข้าเช่นกัน เพราะยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศ

เนื่องจากกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะ (แม่พิมพ์ โดยใช้การออกแบบคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรมต่าง ๆ รวมถึงสามารถพัฒนากระบวนการขึ้นรูปอะลูมิเนียมที่เป็น High strength aluminumforming 5083 H116 spec และยังสามารถพัฒนาวัสดุอะลูมิเนียมเพื่อทำให้มีความแข็งแรงใกล้เคียงและสามารถทดแทนโครงสร้างเดิมที่เป็นเหล็กได้ จึงเหมาะที่จะนำเป็นโครงสร้างยานยนต์สมัยใหม่ 

ซึ่งการที่มีน้ำหนักเบาขึ้นจะช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน แต่การที่จะพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ที่มีน้ำหนักเบานั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานยานยนต์สากลโดยจำเป็นที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ

ทีมนักวิจัยจากเอ็มเทค สวทช. จึงเข้ามาช่วยในด้านการออกแบบและวิเคราะห์ทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างรถโดยสารและเรือที่พัฒนาขึ้นจากอะลูมิเนียม

จากผลการวิเคราะห์ของความแข็งแรงด้วยวิธีระเบียบไฟไนต์เอลิเมนต์ (Finite element) โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม พบว่าโครงสร้างตัวถังอะลูมิเนียมที่บริษัทสกุลฏ์ซีฯ พัฒนาขึ้น มีความแข็งแรงเพียงพอโดยที่การลดเนื้อวัสดุในหน้าตัดของชิ้นส่วนเพื่อลดน้ำหนักไม่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของโครงสร้าง นอกจากนี้ยังมีค่าความต้านทานจากการบิด (Torsional stiffness) เทียบเท่ากับโครงสร้างรถโดยสารที่ทำจากเหล็ก

ปัจจุบันบริษัทสกุลฏ์ซีฯ ต่อยอดจากงานวิจัยที่พัฒนาร่วมกัน จนสามารถสร้างโรงงานผลิตรถโดยสารตัวถังอะลูมิเนียมขนาดเล็กและผลิตเรืออะลูมิเนียมสัญชาติไทยเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้เป็นรายแรกในประเทศไทย

ผลผลิตจากงานวิจัยมีทั้งรถโดยสารอะลูมิเนียมภายใต้แบรนด์”C Bus by Sakun.c” และเรืออะลูมิเนียมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการประกอบตัวถังมีขนาดความยาว 20 เมตร ไร้รอยต่อ มีระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าขนาด 500 kw และมีจุดเด่นที่มีความปลอดภัยสูง เพราะเสริมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยป้องกันการจม

นอกจากนี้ยังมีต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า “EV Aluminum Bus”สัญชาติไทย ซึ่งตัวถังความยาว 12 เมตร ผลิตจากอะลูมิเนียมขึ้นรูปผสมพิเศษแข็งแรงกว่าเหล็กและอะลูมิเนียมทั่วไปถึง 4 เท่า แต่มีน้ำหนักเบากว่าเหล็กครึ่งหนึ่ง ซึ่งรถโดยสารฟฟ้าดังกล่าวได้มีการนำไปเป็นต้นแบบยานพาหนะสมัยใหม่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป ที่เริ่มต้นจากการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่อย่างรถโดยสารไฟฟ้าและเรืออะลูมิเนียมที่มีความปลอดภัยสูงแล้ว อนาคตยังมีแผนที่จะต่อยอดความร่วมมือไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเรืออัจฉริยะไร้คนขับ
การนำระบบอัจฉริยะต่าง ๆ มาใช้เพื่อความปลอดภัย การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งหรือไอโอที เพื่อเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ รวมถึง
การจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรม และการใช้งานเพื่อรองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไออีกด้วย

ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการนี้ เรียกได้ว่า นอกจากจะ
สอดคล้องกับนโยบายของ สวทช. ในการผลักดันงานวิจัยที่ตอบโจทย์
การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 และทำให้เกิด
การนำไปใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริม
ให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่แบบครบวงจรในประเทศไทย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: