หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ
นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ

            เมื่อ “สังคมผู้สูงอายุ” กลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลก สัดส่วนประชากรโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงจากจํานวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations UN) ได้นิยามเกี่ยวกับประเทศที่กําลังเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีสังคมผู้สูงอายุไว้ว่า เมื่อประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกิน 10% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7% ให้ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)

           จากเมกะเทรนด์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ ทําให้มีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จํานวนกว่า 13 ล้านคนหรือประมาณ 20% ของประชากรรวม กล่าวได้ว่าไทยจะเป็นสังคมผู้อายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)

            โอกาสและความท้าทายเพื่อรับมือสังคมผู้สูงอายุ ไม่เพียงแค่เชิงเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ในมุมของการวิจัยและพัฒนาก็มองเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อย สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มองเห็นถึงปัญหาและเดินหน้าวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะตอบความต้องการของผู้สูงอายุ

            ผลลัพธ์ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผ้ากระตุ้นสมอง AKIKO (อะ-กิ-โกะ) และเกมฝึกสมอง MONICA (โม-นิ-ก้า) ที่ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุด้วยเกมที่สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมปุ่มกดที่ได้รับการออกแบบสําหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะอุปกรณ์ช่วยขึ้นลงเตียงแบบปรับนั่งได้ BEN (เบน) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีระดับขั้นของบันไดสําหรับให้ผู้ป่วยสามารถนั่งพักเท้าและขึ้นลงเตียงที่มีความสูงที่ใช้ทั่วไปในสถานพยาบาลได้ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย หรือว่านวัตกรรมเฉพาะบุคคล เช่น แผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคล 3D sole หรืออุปกรณ์พยุงหลังเฉพาะบุคคลที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของผู้สูงอายุในประเทศไทย

            รวมถึงนวัตกรรมสําหรับผู้สูงอายุที่น่าสนใจและเริ่มมีการต่อยอดใช้งานอย่างแพร่หลายก็คือ เตียงตื่นตัว (โจอี้) และ M-Wheel อุปกรณ์พ่วงต่อเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาเป็นรถเข็นไฟฟ้า

            โดยเตียงตื่นตัว JOEY นี้ เป็นผลงานจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ที่พัฒนาเตียงนอนที่มีกลไกช่วยผู้สูงอายุในการลุกนั่งและลุกขึ้นยืน โดยใช้กระบวนการออกแบบที่นําผู้ใช้มาเป็นศูนย์กลาง หรือ Human-centric Design ซึ่งให้ความสําคัญทั้งผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้องรวมถึงบริบทการใช้ชีวิตในทุกช่วงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยต้องคํานึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานคือ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาผู้ดูแล มีความปลอดภัยในการใช้งานและลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม

            นวัตกรรมต้นแบบจะมีกลไกช่วยปรับหมุนจากท่านอนเป็นท่านั่ง กลไกช่วยในการลุกจากท่านั่งเป็นท่ายืน และมีอุปกรณ์ในการป้องกันการหกล้ม รวมถึงมีรีโมตที่ได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุ ทําให้ใช้งานได้ง่ายและปลอดภัย มีปุ่มกดขนาดใหญ่ มีภาพอธิบาย สีสันดูง่าย สามารถประยุกต์เป็นเตียงนอนสําหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงติดบ้านและติดเตียง ซึ่งปกติจะต้องใช้ผู้ดูแล เพราะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองลําบากและเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มสูง

            นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นเตียงนอนสําหรับผู้ป่วยฟื้นฟูจากการผ่าตัด ที่ต้องได้รับการ กระตุ้นให้ลุก-นั่ง-ยืนบ่อย ๆ รวมถึงเป็นอุปกรณ์ช่วยในการทํากายภาพบําบัดในท่านอน นั่ง และยืนได้อีกด้วย

จุดเด่นของเตียงตื่นตัวคือการออกแบบจากความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงบริบทต่าง ๆ ของผู้ใช้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การช่วยกระตุ้นการลุกนั่ง-ยืน-เดินของผู้สูงอายุไม่ให้เป็นผู้ติดเตียง ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุจากกลไกหลักสําหรับการปรับเปลี่ยนจาก “ท่านอน” เป็น “ท่านั่ง” ในลักษณะ “พร้อมลุกยืน” ที่ได้รับการออกแบบให้มีความแข็งแรง ปลอดภัยต่อการใช้งานสูง ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง ลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและทําหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการดูแลผู้สูงอายุโดยเป็นอุปกรณ์ช่วยเฝ้าระวังการลุกออกจากเตียงของผู้สูงอายุ มีปัญญาประดิษฐ์ช่วยวิเคราะห์ศึกษาพฤติกรรมการนอน การลุกจากเตียง เพื่อนํามาวิเคราะห์ต้านสุขภาวะ ป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพและการนอนติดเตียงของผู้สูงอายุ

            ปัจจุบันภาคเอกชนอย่างบริษัทเอสบี ดีไซน์สแควร์ จํากัด ได้ต่อยอดนําต้นแบบเตียงตื่นตัวไปปรับใช้ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ โดยเน้นความสวยงามน่าใช้ ไม่ให้รู้สึกเหมือนเป็นเตียงผู้ป่วย และพร้อมนําไปใช้จริงแล้วภายใต้ชื่อเตียง Power Lift Bed เตียงนอนสําหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยพักฟื้น

            สําหรับ “เอ็ม-วีล” (M-Wheel) เป็นการพัฒนาอุปกรณ์พ่วงต่อที่สามารถเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาให้เป็นรถเข็นไฟฟ้าที่สะดวก ปลอดภัย และมีราคาไม่แพง

            ผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องใช้วีลแชร์หรือรถเข็นจําเป็นต้องมีลูกหลาน พยาบาล หรือผู้ดูแลทําหน้าที่เป็นรถไปยังจุดหมาย บางครั้งอาจไม่ถูกใจผู้สูงอายุที่อยากทําอะไรด้วยตนเอง รถเข็นไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกายและผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากใช้งานสะดวก ทําให้พึ่งพาตนเองได้ แต่มีราคาค่อนข้างสูง จึงมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้

ทีมนักวิจัยชีวกลศาสตร์ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงพัฒนา “M-Wheel อุปกรณ์พ่วงต่อเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาเป็นรถเข็นไฟฟ้า” ขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้รถเข็นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้พิการที่มีร่างกายท่อนบนที่ดีให้มีอิสระและดํารงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีมากขึ้น

            หัวใจหลักของการเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาให้กลายเป็นรถเข็นไฟฟ้า คือ ชุดควบคุมการเคลื่อนที่ซึ่งเป็นตัวออกคําสั่งให้ลูกล้อเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ ชุดขับเคลื่อนซึ่งจะเป็นตัวส่งกําลังลูกล้อให้เดินหน้าหรือถอยหลังและขุดแหล่งพลังงานที่จ่ายพลังงานให้รถเข็นเคลื่อนที่และสามารถชาร์จไฟได้ โดยการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มด้วยแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ที่ใช้กันในครัวเรือน ใช้เวลาชาร์จประมาณ 8 ชั่วโมงและเมื่อชาร์จเต็มแล้ว M-Wheel สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องประมาณ 4 ชั่วโมงหรือประมาณ 20 กิโลเมตร

            นวัตกรรมนี้อาศัยรถเข็นที่เจ้าของมีอยู่แล้วมาติดตั้ง M-Wheel เป็นอุปกรณ์ต่อพ่วง ทําให้สามารถทํางานได้ทั้งระบบบังคับด้วยไฟฟ้าและระบบผู้ใช้งานหมุนล้อเอง หรือหากต้องการระบบแบบผู้ช่วยเข็น สามารถติดตั้งอุปกรณ์พ่วงต่อในตําแหน่งสําหรับผู้ช่วยเข็นได้ตามความเหมาะสม และยังสามารถพับและพกพาได้เสมือนกับรถเข็นทั่วไป โดยมีน้ำหนักเพิ่มที่มาจากชุดควบคุมการเคลื่อนที่ ชุดขับเคลื่อน และชุดแหล่งพลังงานเท่านั้น

            M-Wheel สามารถประกอบติดตั้งง่ายเหมาะกับทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงผู้พิการที่มีร่างกายท่อนบนที่ดี รับน้ำหนักได้สูงสุด 80 กิโลกรัม ควบคุมการเคลื่อนที่ได้ง่าย ใช้ในพื้นที่ลาดเอียงและขึ้นทางต่างระดับได้ตามมาตรฐาน

            ที่สําคัญยังสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย เนื่องจาก M-Wheel ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์การแพทย์ โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. เรียบร้อยแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าไฟไม่รั่ว ไม่มีส่วนประกอบใดก่อให้เกิดความร้อนจนทําให้ผิวหนังผู้ใช้รถเข็นไหม้ รวมทั้งไม่มีส่วนประกอบใดที่มีความเสี่ยงต่อการหนีบอวัยวะหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายผู้ใช้รถเข็น

            นวัตกรรมเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์ “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งได้วิจัยและพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้วอย่างสมบูรณ์

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: