หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” แรงบันดาลใจผ่านค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร
“บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” แรงบันดาลใจผ่านค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร
15 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร" แรงบันดาลใจผ่านค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร

“ค่ายวิทยาศาสตร์” คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความรักในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชน ซึ่งจะสามารถบ่มเพาะและพัฒนาต่อยอดเป็นบุคลากรวิจัยมืออาชีพในอนาคตได้

จากความมุ่งมั่นบ่มเพาะพัฒนาเยาวชนด้วยกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร (Permanent Science Camp) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจัดกิจกรรมพัฒนาเยาวชน และ สวทช.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ-พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” (Sirindhorn Science Home) เป็นชื่อโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร และเริ่มเปิดดำเนินการ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552

บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะ และพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งที่มีความสนใจและมีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบครบวงจร ตั้งแต่กระตุ้นความสนใจ สร้างเครือข่ายกับครูและอาจารย์ทั่วประเทศ รวมถึงการค้นหา ส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

สวทช. ได้ใช้ความพร้อมทั้งบุคลากร สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมทักษะความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน โดยได้จัดสร้างห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพพืช โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม(Fabrication Lab: FabLab) ซึ่งเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือวิศวกรรมศาสตร์ที่ทันสมัย มีความปลอดภัย เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงกับนักวิจัยและนักวิชาการของ สวทช.

 

สำหรับกิจกรรมมีรูปแบบหลากหลายเน้นความเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ สวทช. มีความเชี่ยวชาญ โดยบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ทั้งกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์แบบค่ายหนึ่งวัน ค่ายค้างคืน และค่ายเฉพาะทาง รวมถึงโครงการเสริมสร้างทักษะการทำโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนไทย ซึ่งเป็นการพัฒนาการทำโครงงานฯ ด้วยวิธีระเบียบวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม และมีคุณภาพในระดับชาติหรือนานาชาติ ซึ่งแต่ละปีมีเด็กเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมที่จัด ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรกว่า 10,000 คน

ตัวอย่างผลงานที่สำคัญเช่น การสร้างเครื่องบิน CozyMark IV ชนิด Composite4 ที่นั่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมฝึกทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เข้มข้นใช้เวลาการสร้างกว่า 7 ปีและมีนักเรียนกว่า 3,105 คน ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกฝนและปฏิบัติจริงที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งมีการทดสอบการวิ่ง(Taxi) ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นับเป็นเครื่องบินลำแรกของประเทศไทยที่ประกอบโดยเยาวชนไทย และสามารถใช้งานจริงได้และ สวทช. ได้มอบเครื่องบินลำนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพในปี พ.ศ. 2560 เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA PART 66 CAT B1 ต่อไป

ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 สวทช. บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรได้จัดทำ Face shield ที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์สามมิติแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการช่วยป้องกันโรคกว่า 3,000 ชิ้น

นอกจากนี้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรได้รับความไว้วางใจในการเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเยาวชนนานาชาติ อาทิ เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 (AYSF 2011) Asian Science Camp 2015 ในปี พ.ศ. 2558 และ The 15th Asia Pacific Conference on Giftedness (APCG2018) ในปี พ.ศ. 2561

อาจกล่าวได้ว่า “บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช.” เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและครบวงจรในการสร้างบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ที่ต้องเริ่มจากการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ ทักษะในการเป็นนวัตกรหรือนักวิจัยตั้งแต่วัยเยาว์ และต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยสวทช. คาดหวังว่าบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรจะเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบของประเทศ ที่จะมีหน่วยงานอื่นนำไปขยายผลการดำเนินงานสู่ภูมิภาคต่อไปในอนาคต

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: