กระแสการจัดการความรู้ (KM: Knowledge Management) นับเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากทุกองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง อันจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้องค์กรยั่งยืนในหลายมิติ ซึ่งเกิดจากการที่องค์กรก้าวสู่สภาพความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เครื่องมือต่างๆ ทางไอซีที (ICT Tools) ได้ถูกนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการจัดการความรู้เพื่อให้สามารถจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ ประมวลผล รายงานผลได้ทันต่อความต้องการใช้งานความรู้ของบุคลากร และองค์กร
การพัฒนาระบบไอซีทีเพื่อสนับสนุนการจัดการความรู้ สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยงบประมาณที่ไม่มากนัก โดยเลือกใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่มโอเพนซอร์สและ/หรือฟรีแวร์ (OSS: Open Source Software & Freeware) โดยเฉพาะซอตฟ์แวร์ที่มีความสามารถตามแนวทางเทคโนโลยีเว็บ 2.0 (Web 2.0) เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่มคน ชุมชนได้อย่างแท้จริง
ซอฟต์แวร์ในกลุ่ม Blog อย่างเช่น WordPress.org นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจในการพัฒนาคลังความรู้ส่วนบุคคล หรือคลังความรู้ขององค์กร โดยการเขียนจะเป็นลักษณะการเล่าเรื่อง หรือนำเสนอเนื้อหาด้วยภาพที่จัดกลุ่มตามวันที่ที่สร้าง/เผยแพร่เนื้อหานั้น จึงเป็นเสมือนไดอารีส่วนตัวได้ทันที และ/หรือปรับใช้เป็นระบบจดหมายเหตุดิจิทัลขององค์กร (ในอนาคต) ก็ได้
รูปภาพเว็บเครือข่ายการแลกเปลี่ยนความรู้ในรูปแบบ Blog ของ สวทช. http://nstda.or.th/blog พัฒนาด้วย WordPress.org ซอฟต์แวร์ในกลุ่ม OSS ที่สามารถพัฒนาเว็บไซต์ในลักษณะ Blog มีให้เลือกใช้ได้หลากหลาย ไม่เฉพาะ WordPress.org ดังนั้นการที่คำถามที่มักจะได้รับก็คือ ซอฟต์แวร์ใดน่าสนใจ ผมมักจะต้องถามกลับไปว่าความต้องการของผู้ใช้คืออะไร และทราบไหมว่าซอฟต์แวร์ที่สนใจตอบรับหรือไม่อย่างไร อันนี้ตอบไม่ยากครับ ลองเข้าเว็บไซต์ www.cmsmatrix.org แล้วเลือกซอฟต์แวร์ที่สนใจจากนั้นคลิกปุ่ม Compare ก็จะได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่น่าสนใจ
ผลการเปรียบเทียบความสามารถของ WordPress, Joomla, Drupal และ Xoops ผ่านเว็บไซต์ cmsmatrix.org ข้อมูลเปรียบเทียบจาก cmsmatrix.org มีประเด็นที่สามารถพิจารณาได้หลากหลาย เช่น ความสามารถการจัดการเนื้อหาแบบ Blog จะพบว่าทั้ง WordPress, Joomla, Drupal ต่างติดตั้งมาพร้อมใช้งาน ในขณะที่ Xoops ต้องติดตั้งเพิ่ม สำหรับความสามารถอื่นๆ ลองศึกษาเพิ่มจากเว็บดูนะครับ ไม่ยากหรอกครับ และเมื่อมีการนำซอฟต์แวร์มาผ่านการวิเคราะห์แนวโน้มด้วย Google Trends (http://trends.google.com) ก็จะได้ข้อมูลสนับสนุนอีกแนวทางหนึ่ง ดังนี้
นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์ในกลุ่ม Wiki ที่เน้นการเขียนเนื้อหาร่วมกันอย่างรวดเร็ว (ต้องเน้นว่ารวดเร็วสมกับคำว่า Wiki ที่แปลว่า เร็วๆ) ดังนั้นเนื้อหาที่เขียนด้วย Wiki ไม่ควรสนใจการจัดรูปแบบมากนัก (ทำอย่างไรให้ตัวหนา ทำอย่างให้ให้เป็นสีแดง สีเขียว ควรลืมๆ ไปบ้างครับ) ด้วยลักษณะการเขียน Wiki ที่เน้นการเขียนร่วมกัน และมีการเก็บประวัติการเขียนรายครั้ง ทำให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการจัดการความรู้ที่ได้รับการเลือกใช้มากเครื่องมือหนึ่ง สวทช. ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยคุณพิสุทธิ์ ไพบูลย์รัตน์ ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งของ สวทช. ได้นำโครงการนี้เข้ามาที่ สวทช. พบว่า Wiki เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในการจัดการความรู้จากชุมชน โดยเฉพาะจากครู/นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่ร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ที่นำเนื้อหามาร่วมกันเขียนผ่านเครื่องมือ Dokuwiki (http://www.dokuwiki.org) อันเป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์กลุ่ม Wiki ที่น่าใช้มาก เว็บไซต์โครงการฯ มีเนื้อหาที่ทุกท่านหากได้เข้าชมจะพบความมหัศจรรย์ของการร่วมกันเขียน ถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบต่างๆ ของครู/นักเรียน
สำหรับแนวทางการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่ม Wiki ก็สามารถเลือกใช้ wikimatrix.org ได้ครับ อาจจะทำให้ท่านเลือกใช้วิกิได้ตรงใจมากกว่าการได้ยินเฉพาะ Wikipedia แล้วเลือกใช้ MediaWiki มาพัฒนาระบบงาน สำหรับผมเองเทใจให้กับ Dokuwiki ครับ