5 สาเหตุหลักที่ผลักดันให้การทำงานร่วมกันข้ามสาขาวิชาได้รับความสนใจ
- ความต้องการของสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้
- ความซับซ้อนของปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
- การปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร
- การจำกัดการเพิ่มขึ้นของทรัพยากร และ ความจำเป็นในการสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างผลกระทบเชิงพาณิชย์
- การเพิ่มขึ้นของความเชี่ยวชาญและการกระจายตัวของความรู้
ในปัจจุบัน ความรู้และนวัตกรรมนับเป็นทรัพยากรที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Maaninen-Olsson, Wismen and Carlsson, 2008) นักวิชาการหลายคน เช่น Edenius, Keller and Lindblad (2010), Maaninen-Olsson, Wismen and Carlsson (2008) และ Carlile (2004) ระบุว่า นวัตกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณที่ซึ่งเป็นความต่างระหว่างสาขาวิชาที่มีความแตกต่างกัน โดยคำว่านวัตกรรมหมายรวมถึงแนวคิด ผลิตภัณฑ์และบริการ เทคโนโลยี ตลอดจนกระบวนการใหม่ๆ หรือการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้าให้ดียิ่งขึ้น (Edenius, Keller and Lindblad, 2010; Cummings and Kiesler, 2005) ในทำนองเดียวกัน Star and Griesemer (1989) แสดงให้เห็นว่า การสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และความรู้ส่วนใหญ่ต้องการมุมมองที่แตกต่างและหลากหลายซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มคนที่มาจากสาขาวิชาที่แตกต่างกัน เช่น การพัฒนา The Museum of Vertebrate Zoology ของ The University of California, Berkeley
นอกจากนี้ ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น (Maglaughlin and Sonnenwald 2005; Bronstein, 2003) เช่น ปัญหาโลกร้อน ภัยพิบัติ หรือ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งการเชื่อมโยงความรู้จากสาขาวิชาที่แตกต่างกันมีความจำเป็นเพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจที่ดีขึ้นสำหรับปัญหาที่ซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติ เพื่อพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากลักษณะของสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้และการเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติ รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่จึงปรับเปลี่ยนแนวคิดของการสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรหลักสำหรับโครงการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันข้ามสาขาวิชามากยิ่งขึ้น เช่น The National Science Foundation ของสหรัฐฯ และ The Framework programmes ในสหภาพยุโรป (Cummings and Kiesler, 2005; Newell and Swan, 2000)
ขณะเดียวกันงบประมาณจากภาครัฐที่สนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยของรัฐส่วนใหญ่ถูกจำกัดโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Numprasertchai and Igel, 2005) ตัวอย่างปี พ.ศ. 2553 งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย คือ 0.07% 0.63% และ 0.25% ของ GDP ตามลำดับ (Jakarta Post, 2010) เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ คือ 1.5% 3.4% และ 2.8% ของ GDP ตามลำดับ (Grueber, 2011) แม้ว่างบประมาณเหมือนจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ไม่เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการใหม่และยุ่งยากซับซ้อน (Numprasertchai and Igel, 2005) ดังนั้นมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยของรัฐหลายแหล่งจึงถูกผลักดันให้ประหยัดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงการประยุกต์ใช้ความรู้และความสามารถภายในองค์กรเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงพาณิชย์และแก้ไขปัญหาได้จริงมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดทุนสนับสนุนจากแหล่งอื่น (Jahn, Bergmann and Keil, 2012; Numprasertchai and Igel, 2005) ตัวอย่าง Numprasertchai and Igel (2005) ที่ระบุว่า การบริหารจัดการวิจัยผ่านการทำงานร่วมกันข้ามขอบเขตสาขาวิชาและหน่วยงานในหน่วยงานวิจัยในมหาวิทยาลัยของรัฐ คือ กลยุทธ์ที่สำคัญซึ่งสามารถปรับปรุงกระบวนการวิจัยและการดำเนินงานของหน่วยวิจัยในมหาวิทยาลัยในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะสามารถเรียนรู้และพัฒนาความคิดใหม่ๆ ทางการตลาด การแลกเปลี่ยนความรู้เฉพาะด้าน รวมถึงการขอรับเงินทุนสนับสนุนและเครื่องมือจากบริษัทเอกชนและองค์กรวิจัยอื่นๆ จากการทำงานร่วมกัน
ตัวขับเคลื่อนถัดมา คือ การเพิ่มขึ้นของความเชี่ยวชาญและการกระจายตัวของความรู้ (Akkerman and Bakker, 2011; Hislop, 2005; Grant, 1996) ความรู้ขององค์กรส่วนใหญ่นั้นกระจายอยู่ภายในองค์กร กล่าวคือ ความรู้ขององค์กรส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะของชุมชนพนักงาน ภายใต้กิจกรรมที่แต่ละชุมชนดำเนินการ ซึ่งอาจมีส่วนเชื่อมโยงหรือทับซ้อนกับชุมชนอื่นโดยพื้นฐาน ดังนั้นหนึ่งในงานหลักขององค์กรคือการเชื่อมโยงชุมชนที่มีความหลากหลายเหล่านี้เพื่อรวบรวมและบูรณาการความรู้ภายในตัวบุคคลและกลุ่มบุคคลที่กระจายในองค์กร (Hislop, 2005; Grant, 1996) นอกจากนี้ ไม่มีคนใดคนหนึ่งสามารถเป็นเจ้าของความรู้ที่ต้องการและจำเป็นทั้งหมดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีความซับซ้อน (Hara, Solomon, Kim and Sonnenwald, 2003; Katz and Martin, 1995) ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงค้นหาวิธีที่เป็นไปได้เพื่อเชื่อมต่อความรู้ข้ามขอบเขตสาขาวิชาเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดจากการกระจายตัวของความรู้ (Akkerman and Bakker, 2011)
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาและความท้าทายที่คนและองค์กรส่วนใหญ่เผชิญหรือเกี่ยวข้องมีลักษณะของสหสาขาวิชาโดยธรรมชาติ ปัญหาและความท้าทายดังกล่าวไม่สามารถบรรลุหรือบรรลุได้โดยง่ายโดยบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร และสาขาวิชาหนึ่งวิชาใด ดังนั้นการดำเนินงานร่วมกันข้ามขอบเขตสาขาวิชาจึงได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น (Sumner and Tribe, 2007; Haythornthwaite, 2006; Cummings and Kiesler, 2005)
บรรณานุกรม
Akkerman, S., & Bakker, A. (2011). Boundary crossing and boundary objects. Review of Educational Research, 81, (2), 132-169. doi: 10.3102/0034654311404435
Bronstein, L. R. (2003). A model for interdisciplinary collaboration. Social Work, 48 (3), 297-306.
Carlile, P. R. (2004). Transferring, translating, and transforming: an integrative framework for managing knowledge across boundaries. Organization Science, 15, (5), 555-568. doi: 10.1287/orsc. 1040.0094
Cummings, J., & Kiesler, S. (2005). Collaborative research across disciplinary and organizational boundaries. Social Studies of Science, 35 (5), 703-722. doi: 10.1177/0306312705055535
Edenius, M., Keller, C., & Lindblad, S. (2010). Managing knowledge across boundaries in healthcare when innovation is desired. Knowledge Management & E-Learning: An International Journal, 2 (2), 134-153.
Grant, R. M. (1996). Toward a knowledge-based theory of the firm. Strategic Management Journal, 17 (Winter Special Issue), 109-122.
Grueber, M. (2011). 2012 Global R&D funding forecast: R&D spending growth continues while globalization accelerates. Retrieved November 23, 2013 from http://www.rdmag.com/articles/2011/12/2012-global-r-d-funding-forecast-r-d-spending-growth-continues-while-globalization-accelerates
Hara, N., Solomon, P., Kim, S., & Sonnenwald, D. H. (2003). An emerging view of scientific collaboration: scientists’ perspectives on collaboration and factors that impact collaboration. Journal of the American Society for Information Science and Technology, 54 (10), 952–965.
Haythornthwaite, C. (2006). Learning and knowledge networks in interdisciplinary collaborations. Journal of the American Society for Information Science and Technology, 57 (8), 1079-1092.
Hislop, D. (2005). Knowledge management in organizations : a critical introduction. Oxford, England: Oxford University Press.
Jakarta Post. (2010). The performance of research in Indonesia. Retrieved November 23, 2013 from http://www.thejakartapost.com/news/2010/07/02/the-performance-research-indonesia.html
Johnson, L. S. (2005). From knowledge transfer to knowledge translation: applying research to practice. OT Now, July/August, 11–14.
Katz, J. S., & Martin, B. R. (1997). What is research collaboration?. Research Policy, 26, 1-18.
Maaninen-Olsson, E., Wismen, M., & Carlsson, S. (2008). Permanent and temporary work practices: knowledge integration and the meaning of boundary activities. Knowledge Management Research & Practice, 6, 260-273.
Maglaughlin, K. L., & Sonnenwald, D. H. (2005). Factors that impact interdisciplinary natural science research collaboration in academia. Proceedings of the Conference of the International Society for Scientometrics and Informetrics, 499–508.
Newell, S., & Swan, J. (2000). Trust and inter-organizational networking. Human Relations, 53 (10), 1287-1327.
Numprasertchai, S., & Igel, B. (2005). Managing knowledge through collaboration: multiple case studies of managing research in university laboratories in Thailand. Technovation, 25, 1173-1182.
Star, S. L., & Griesemer, J. R. (1989). Translations and boundary objects: amateurs and professionals in Berkeley’s museum of vertebrate zoology. Social Studies of Science, 19 (3), 387-420.
Sumner, A., & Tribe, M. (2007). Doing cross-disciplinary development research: what, how, when?. Discussion paper for DSA Conference panel on ‘Is Trans-disciplinarity Feasible in Development Research?’.
Tranfield, D. (2002). Formulating the nature of management research. European Management Journal, 20 (4), 378–382.