สำหรับองค์กรที่ดำเนินงานด้าน R & D เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางการตลาด หรือมีตัวชี้วัดที่ต้องส่งมอบ เพื่อตอบโจทย์ ฯ แต่จะทำอย่างไรให้ทีมงานที่มีนั้นมีประสิทธภาพยิ่งขึ่น เพื่อผลลัพธ์ที่คุ้มค่า เรียนรู้วิธีบริหารจัดการนักวิจัยจาก 3 องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง NASA IBM และ Lucent-Bell Labs
ในกิจกรรม NSTDA Knowledge Sharing เวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของชาว สวทช. ครั้งที่ 30 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อเรื่อง “NASA IBM Lucent-Bell Labs มีวิธีการบริหารจัดการนักวิจัยกันอย่างไร”ซึ่งเนื้อหาโดยรวมของงานครั้งนี้ คือ การนำแนวคิด กระบวนการ และวิธีบริหารจัดการนักวิจัยอย่างมืออาชีพ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรคนไทย 3 ท่าน ที่เคยร่วมงานใน 3 องค์กรดังกล่าวมานานกว่า 10 ปี คือ
- ศ.ดร.ปราโมทย์ เดชะอำไพ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- รศ.ดร.โชคชัย เลี้ยงสุขสันต์
- ดร.นพวรรณ ตันพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งนอกจากให้เกียรติเป็นวิทยากรแล้วยังรับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการด้วย
เริ่มที่ NASA (National Aeronautics and Space Administration) NASA มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยใหญ่ 3 ศูนย์ และศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะด้าน ซึ่ง Langley Research Center คือ ศูนย์ปฏิบัติการหนึ่ง ซึ่ง ศ.ดร.ปราโมทย์ เดชะอำไพ เคยเป็นหนึ่งในทีมงาน โดยขณะนั้นมีทีมงานมากกว่า 3,000 คน ซึ่งอัตราส่วนระหว่างฝ่ายวิจัยและฝ่ายสนับสนุน คือ 5:1
ศ.ดร.ปราโมทย์ เล่าถึงระบบการดูแลนักวิจัยของ NASA ที่เริ่มต้นตั้งแต่การรับเข้าทำงาน วิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเป็น co-op คือ ช่วงพักภาคฤดูร้อน นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.ตรี จะสมัครเข้าทำงานที่ NASA นอกจากค่าตอบแทนที่จะได้รับ ขณะที่ทำงานจะมีนักวิจัยพี่เลี้ยงช่วยฝึกสอนงาน วิธีการนี้ช่วยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ระบบงานของ NASA ก่อนตัดสินใจสมัครเข้าทำงาน เช่นเดียวกัน NASA เองก็ได้เห็นแววนักศึกษาที่น่าจะดึงเข้าร่วมทีมต่อไป นอกจากนี้ NASA ยังมีการวางระบบบุคลากรที่รอบคอบ และรัดกุม ด้วยการแบ่งพนักงาน เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มข้าราชการ ซึ่งต้องเป็น U.S. citizen เท่านั้น
- Contractor คือ พนักงานบริษัทที่รับงานจาก NASA (outsource)
- Grantes อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนวิจัยจาก NASA
หลังเข้ารับงาน นักวิจัยใหม่ทุกคนจะได้รับเวลาในการปรับตัวประมาณ 3 เดือน เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมถึงการสอนให้คิดอย่างเป็นระบบ การทำวิจัย การทำ Technical paper รวมถึงทักษะการนำเสนอผลงานที่ลงรายละเอียดทุกบรรทัด ทุกนาที โดยมีหัวหน้าและผู้บริหารประกบ (ศ.ดร.ปราโมทย์ แซวว่าต่างจากเมืองไทยเราที่หัวหน้าและผู้บริหารส่วนใหญ่จะหมดเวลาไปกับการประชุม กิจกรรมแบบนี้จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น) ส่วนหัวข้อในการทำวิจัยนั้นจะมาจากปัญหาที่ระดับสูงส่งลงมาถึง ซึ่งเน้นเพื่อการใช้งานจริงและเกิดองค์ความรู้ใหม่ เช่น โครงการ Natioal Aerospace Plane ขณะที่การประเมินผลงานจะถูกประเมินด้วย Technical report Technical paper และสิทธิบัตร ซึ่งนักวิจัยจะไม่ถูกแรงกดดันเรื่องหารายได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้นักวิจัยของ NASA สร้างสรรค์ผลงาน คือ การให้รางวัลจูงใจ ที่มีเกณฑ์การประเมินชัดเจน โปร่งใส นอกจากรางวัลตอบแทนที่เป็นตัวเลข ยังมีรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่ได้รับจากผู้บริหารระดับสูง ศ.ดร.ปราโมทย์ ย้ำว่าการทำงานใน NASA โดยเฉพาะในฐานะคนไทย จะต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากโชคและความรู้ สิ่งสำคัญ คือ ความมานะ
ต่อกันด้วยหน่วยงานที่ 2 คือ Lucent-Bell Labs เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการเป็นบริษัทแรกที่คิดค้นประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์เครื่องแรกของโลก ซึ่งมีพนักงานมากถึง 3 แสนคน โดยผลิตภัณฑ์ 1 จะมีทีมงานร่วมพัฒนาถึง 800 คน
รศ.ดร.โชคชัย เลี้ยงสุขสันต์ ได้ย้อนวันวานและเล่าให้ฟังถึงเมื่อครั้งที่เป็นหนึ่งในทีมพัฒนาของบริษัท Lucent-Bell Labs ว่า เริ่มต้นเข้าทำงานจากการร่วมทำวิจัยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ และได้รับการแนะนำจากรุ่นพี่สมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา เพื่อเข้าทำงานในที่ดังกล่าว รศ.ดร.โชคชัย ย้ำว่าการทำงานและการใช้ชีวิตในอเมริกานั้นเรื่องเครือข่ายนับเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีของ รศ.ดร.โชคชัย ในการร่วมทีมกับ Lucent-Bell Labs ทักษะที่สำคัญของนักวิจัย คือ
- Communication
- People skill โดยเฉพาะการเข้ากับคนอื่นๆ ได้
- Negotiation (การต่อรอง) อีกทักษะที่จำเป็นกรณีต้องทำงานกับ partner ต่างบริษัท
- Team work
- Thank you skill เช่น รางวัลสำหรับทีมงาน
- Can do attitude สร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง เพื่อนร่วมงานและองค์กร
- ความคิดที่ว่า “บริษัทเป็นบริษัทของพ่อแม่เราเอง”
จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในบริษัทเอกชน ดร.โชคชัย ได้ผันตัวเองเข้าสู่แวดวงการศึกษา ด้วยการลาออกจากบริษัทเพื่อเป็นอาจารย์ใน Louisiana Tech University การย้ายเข้าสู่สถาบันอุมดศึกษาทำให้มีอิสระทางความคิดก็จริง แต่ก็ต้องถูกคาดหวังทั้งการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการหาทุนวิจัย โดยเฉพาะอย่างหลังที่หลายคนไม่ชอบนัก แต่ ดร.โชคชัย มองในมุมกลับว่า “หากงานเราเจ๋งจริง เงินทุนก็มาเอง”
ปิดท้ายกันที่ ดร. นพวรรณ ตันพิพัฒน์ กับประสบการณ์การร่วมทีม IBM เจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกัยเทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งครองบทบาทการเป็นผู้นำนวัตกรรมทางธุรกิจมายาวนาน ดร. นพวรรณ เสริมว่าการทำงานในอเมริกานั้นงานมีช่องทาง มีเครือข่าย ซึ่งหากเรามีศักยภาพ ไม่ใช่เราที่หางาน แต่งานต่างหากที่วิ่งหาเรา ดังนั้นการพัฒนาและฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ใน IBM ทุกคนต้องทำงานหนัก แม้แต่เวลาพักยังคุยงานและร่าง project ลงบนกระดาษเช็ดปาก โดยใน IBM นั้น ไม่มีผู้ช่วยนักวิจัย ดังนั้นทุกคนต้องทำเป็นทุกๆ อย่าง
สิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ทั้ง 3 องค์กร อย่าง NASA Lucent-Bell Labs และ IBM ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำคือ การทำให้พนักงานภูมิใจในการได้เป็นส่วนร่วมในองค์กร มีแต่ “We” ไม่มี “I” ซึ่งทุกคนพร้อมจะเต็มที่กับงานเพื่อความสำเร็จขององค์กร
ที่มาข้อมูล :
“NASA IBM Lucent-Bell Labs มีวิธีการบริหารจัดการนักวิจัยกันอย่างไร” Knowledge Sharing NSTDA ครั้งที่ 30 ณ ห้องบุษกร อาคารเนคเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย