หน้าแรก เกี่ยวกับ สวทช. แผนงาน/ผลงาน/รายงาน รายงานประจำปี สวทช. รายงานประจำปี 2546
รายงานประจำปี 2546
22 ต.ค. 2563
0
รายงานประจำปี สวทช.

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และในปีเดียวกันนี้ สวทช. ได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศอาทิ การทำวิจัย / สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม ซึ่งก่อให้เกิดผลงานที่นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และเกิดองค์ความรู้มากกว่า 150 โครงการ สนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก จำนวน 354 ทุน สนับสนุนนักศึกษาร่วมปฏิบัติงานวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยของ สวทช. และสถาบันเครือข่าย 318 ทุน และที่สำคัญยิ่งในปี 2546 ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและร่วมมือทางธุรกิจ โดยจัดทำโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ให้เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาระบบงานและคอมโพเน้นท์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงยุคใหม่ และให้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมการวิจัย และพัฒนาอย่างครบวงจร อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เพื่อเป็นศูนย์รวมของวิทยาการแขนงใหม่ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญรวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมืองานวิจัยพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ

ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นของ สวทช. ในปีที่ผ่านมาที่ควรกล่าวถึง  ดังเช่น ศูนย์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เนคเทค สามารถออกแบบชิปสมาร์ทการ์ดได้เองที่ต้นทุน 72 บาท ทั้งนี้ราคาดังกล่าวนั้นเป็นราคาที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้  ไบโอเทค พัฒนาระบบทำความเย็นสำหรับถังบรรจุและขนส่งน้ำมันดิบในสภาวะที่เหมาะสม ที่นับเป็นการ
พัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานในการแก้ปัญหาของเกษตรกรในการเก็บรักษา และขนส่งน้ำนมดิบ มีรูปแบบการใช้งานที่สะดวกและง่ายต่อการทำความสะอาด เหมาะสมกับฟาร์มขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีกำลังการผลิตน้ำนมดิบ 40-300 ลิตรต่อการรีดหนึ่งครั้ง เอ็มเทค ได้สร้างต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์สำหรับการวางแผนรักษาและวินิจฉัยโรคเฉพาะบุคคลที่แพทย์จะทำการักษา ทำให้การผ่าตัดถูกต้องแม่นยำ ปลอดภัย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นับเป็นต้นแบบรวดเร็วที่ได้จากผลงานวิจัยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวงการแพทย์ไทย

สวทช. ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ยิ่งขึ้น มีกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และเพื่อให้สามารถอยู่รอดในสังคมยุคใหม่ที่การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น และการแข่งขันนั้นเป็นการแข่งขันทางสติปัญญาความรู้ มิใช่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และมิใช่แรงงานต่ำ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีตจากผลงานต่างๆ ข้างต้น เชื่อมันได้ว่า สวทช. สามารถพัฒนาและผลัดดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐ และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการรวมพลังทำงานในรูปแบบเครือข่าย หรือคลัสเตอร์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับเป็นสำคัญ

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF   – 19.40 MB

แชร์หน้านี้: