หน้าแรก เกี่ยวกับ สวทช. แผนงาน/ผลงาน/รายงาน รายงานประจำปี สวทช. รายงานประจำปี 2554
รายงานประจำปี 2554
22 ต.ค. 2563
0
รายงานประจำปี สวทช.

การดำเนินงานในปี 2554 สวทช. มุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรเป็นสำคัญ พร้อมกับมุ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมจากการวิจัยและพัฒนา สวทช. ใช้ Balanced Scorecard เป็นเครื่องมือบริหารระดับองค์กรไปสู่เป้าหมาย และได้กำหนด 3 กลยุทธ์หลักที่ใช้เร่งผลักดันให้ สวทช. ก้าวไปสู่ความ สำเร็จพร้อมทั้งส่งมอบผลงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้แก่

  1. การเพิ่มความเข้มข้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาคการผลิตและบริการที่ทำงานร่วมกับ สวทช.
  2. การเพิ่มสัดส่วนบุคลากรวิจัยที่ไม่ใช่พนักงาน สวทช.
  3. การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green NSTDA)

สวทช. มีบริหารจัดการงานวิจัยในรูปแบบโปรแกรม (Program based) เพื่อให้เกิดบูรณาการที่สามารถตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคลัสเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวทช. มีสำนักบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย (CPMO) บริหารจัดการงานวิจัย เป้าหมาย ทิศทาง และการบูรณาการเป็นคลัสเตอร์วิจัย ในขณะเดียวกัน สวทช. มีศูนย์แห่งชาติ 4 ศูนย์ ดำเนินโครงการวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของโปรแกรมและคลัสเตอร์ พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีฐาน (platform technology) ที่ครอบคลุม 4 สาขาเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และนาโนเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ สวทช. ยังมีกลุ่มงานวิจัย ที่เชื่อมโยงงานวิจัยระหว่างกลุ่มวิจัย คลัสเตอร์มุ่งเป้าและกลุ่มเทคโนโลยีฐาน ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เรียกว่า “กลุ่มโปรแกรม cross-cutting” ซึ่งเป็นกลุ่มงานวิจัยประยุกต์ที่ได้รับการพัฒนาจากเทคโนโลยีฐานที่พัฒนา ในศูนย์แห่งชาติ จนถึงระดับที่มีศักยภาพในการขยายผลไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์สร้างผลกระทบในภาคส่วนต่างๆ

นอกจากการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมแล้ว สวทช. ให้ความสำคัญต่อการสร้างฐานของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระยะยาว รวมถึงการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ใช้สามารถนำผลงานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น สวทช. ได้ดำเนินงานโปรแกรมพันธกิจที่จำเป็นควบคู่ไปด้วย อาทิ โปรแกรมการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัย ที่จะเป็นผู้สร้างความรู้และนวัตกรรมในอนาคต พร้อมกับสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โปรแกรมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงาน บำรุงรักษา และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และกลุ่มโปรแกรมกลไกเพื่อการส่งมอบและขยายผลประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศเฉพาะด้าน การบริการวิชาการและทดสอบ การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี การฝึกอบรม การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการตลาด เพื่อให้ผลงานวิจัยไปถึงกลุ่มผู้ใช้ และเชื่อมโยงความต้องการกลับมาที่งานวิจัยได้อีกด้วย

ปีงบประมาณ 2554 สวทช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

  • ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา จำนวน 1,748 โครงการ มูลค่ารวม 3,474.03 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการใหม่ 565 โครงการ โครงการต่อเนื่อง 1,183 โครงการ โดยในจำนวนโครงการทั้งหมด มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ 382 โครงการ
  • มูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับการประเมิน 23,746.55 ล้านบาท มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 693 เรื่อง มีการยื่นขอจดสิทธิบัตร 166 เรื่อง และมีมูลค่าโครงการความร่วมมือกับพันธมิตร 972.04 ล้านบาท
  • ดำเนินการถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนา จำนวน 67 เทคโนโลยี ให้แก่สถานประกอบการรวม 110 แห่ง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • ดำเนินการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก ผ่านโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project; JSTP) จำนวน 175 ทุน และโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Thailand Graduate Institute of Science and Technology; TGIST) จำนวน 411 ทุน ฝึกอบรม จำนวน 17,271 คน และพัฒนาเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยการจัดค่ายวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน จำนวน 3,008 คน นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ดำเนินการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินการเสริมสร้างความรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์และวารสารต่างๆ รวมถึงการพัฒนาผู้ผลิตสื่อ
  • ดำเนินการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และบริการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 131,121 รายการ ให้บริการพื้นที่เช่า และบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยแก่บริษัทเอกชนรวม 243 ราย
  • มีผลการใช้จ่ายงบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,429.48 ล้านบาท แบ่งเป็นงบดำเนินงาน 3,582.42 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 847.06 ล้านบาท โดยมีรายได้ทั้งหมด 1,103.06 ล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2554 มีบุคลากรทั้งสิ้น 2,688 คน แบ่งเป็นพนักงานกลุ่มวิจัยวิชาการ 1,816 คน กลุ่มสนับสนุน 660 คน และกลุ่มบริหาร 212 คน คิดเป็นร้อยละ 68, 24 และ 8 ของจำนวนบุคลากรทั้งหมดตามลำดับ
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร PDF   – 8.42 MB

แชร์หน้านี้: