หน้าแรก เกี่ยวกับ สวทช. แผนงาน/ผลงาน/รายงาน รายงานประจำปี สวทช. รายงานประจำปี 2556
รายงานประจำปี 2556
22 ต.ค. 2563
0
รายงานประจำปี สวทช.

สวทช. ดำเนินงานภายใต้แผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 5 (ปี 2555-2559)

ซึ่งได้รับอนุมัติจาคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2554 และได้รับความเห็นชอบการทบทวนแผนกลยุทธ์ดังกล่าวจาก กวทช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 โดยสาระสำคัญของแผนกลยุทธ์ฉบับนี้ คือ การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น จนเกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่มองเห็นและรับรู้ได้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการการวิจัยและนวัตกรรม และยกระดับความสามารถขององค์กรทั้งด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามแผนกลยุทธ์ฯ สวทช. กำหนดให้มีแผนงาน (โปรแกรม) ใน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรและอาหาร คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ คลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม คลัสเตอร์ทรัพยากรชุมชนชนบทและผู้ด้อยโอกาส คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ รวมทั้งแผนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายคลัสเตอร์ (Cross Cutting Technology) และแผนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฐานที่สำคัญในอนาคต (Platform Technology) นอกจากนี้ ยังมีแผนงานตามพันธกิจอื่นๆ อีก 9 แผนงาน ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์แห่งชาติ 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และมีศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) ทำงานร่วมกับนักวิจัย หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน โดยใช้ Balanced Scorecard (BSC) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย

ในปีงบประมาณ 2556 สวทช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญโดยสรุป ดังนี้ 

  • การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนาสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ จำนวน 156 ผลงาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตัวอย่างผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ รถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่พลังงานแสงอาทิตย์, ซอฟต์แวร์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้, ระบบและวิธีการวิเคราะห์ข้อความแสดงความคิดเห็นโดยอัตโนมัติ, ซิลิโคนเจลเพื่อการรักษาแผลเป็นจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก, เทคโนโลยีการตรวจทางพันธุกรรมเพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง, กระบวนการผลิตเชื้อรา Beauveria bassiana BCC2660 ที่ได้มาตรฐานสู่ชุมชน และนาฬิกาเวลาตรง ทั้งนี้ มีสถานประกอบการและชุมชนที่นำผลงานวิจัยและพัฒนาด้าน ว และ ท ไปใช้ประโยชน์ จำนวน 176 แห่ง นอกจากนี้ สวทช. ได้ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 332 คำขอ แบ่งเป็น คำขอสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช และผังภูมิวงจรรวม จำนวน 203, 97, 12, 14 และ 6 คำขอ ตามลำดับ
  • การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก ผ่าน “โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Thailand Graduate Institute of Science and Technology: TGIST)” จำนวน 38 ทุน ผ่าน “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม (NU-IRC)” จำนวน 11 ทุน และผ่าน “โครงการทุนสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (TAIST Tokyo Tech)” จำนวน 72 ทุน ให้การฝึกอบรมบุคลากรในภาคการผลิตและบริการจำนวน 16,755 คน นอกจากนี้ ยังได้จัดค่ายวิทยาศาสต์สำหรับเด็กและเยาวชนจำนวน 3,602 คน เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้เกิดความสนใจด้านวิทยาศาสตร์
  • การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชนทั่วไป ได้จัดทำรายการโทรทัศน์ 4 รายการ เพื่อให้สังคมไทยมีความตื่นตัว และให้ความสนใจแสวงหาความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรายการเทคโนโลยีทำเงิน มีผู้ชมเฉลี่ย 0.74 ล้านคนต่อตอน รายการฉลาดล้ำกับงานวิจัยไทยมีจำนวนผู้ชมเฉลี่ย 0.82 ล้านคนต่อตอน
  • การสนับสนุน SMEs ในการนำ ว และ ท มาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistant Program: iTAP) โดยอยู่ระหว่างดำเนินการสนับสนุน 324 ราย เป็นรายใหม่ 410 ราย
  • การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยี มีการให้บริการเช่าพื้นที่แก่บริษัทเอกชน จำนวน 125 ราย คิดเป็นพื้นที่ 19,578.61 ตารางเมตร และให้การรับรองโครงการวิจัยของภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ทางภาษี 374 โครงการ มูลค่าโครงการที่ได้รับการรับรองรวม 1,416.85 ล้านบาท นอกจากนี้ สวทช. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และจะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2557 เป็นต้นไป
  • การให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบ จำนวน 43,030 รายการ และให้บริการสารสนเทศองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา จำนวน 95,000 ครั้ง
  • การให้บริการพื้นที่เช่าและบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์รวมทั้งสิ้น 125 ราย

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) มูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิตภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม จำนวน 7,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.70 เท่าของการลงทุน ปี 2554 (2) มูลค่าผลกระทบต่อเศรฐกิจและสังคมของประเทศที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เท่ากับ 3.94 เท่าของค่าใช้จ่าย คิดเป็นมูลค่า 16,400 ล้านบาท (3) สัดส่วนบทความวารสารนานาชาติต่อบุคลากรวิจัย คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 32.9 บทความต่อบุคลากรวิจัย 100 คน (จำนวนบทความที่มีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติตามรายชื่อ Science Citation Index Expanded (SCIE) 401 ฉบับต่อบุคลากรวิจัย 1,217 คน) (4) สัดส่วนทรัพย์สินทางปัญญาต่อบุคลากรวิจัย คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 27.3 คำขอต่อบุคลากรวิจัย 100 คน (จำนวนทรัพย์สินทางปัญญา 332 คำขอต่อบุคลากรวิจัย 1,217 คน) และ (5) การบริการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ และบริการข้อมูลทาง ว และ ท รวม 138,030 รายการ

ผลการใช้จ่ายงบประมาณรวมแล้วทั้งสิ้น 4,747.75 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.43 ของแผนรายจ่ายประจำปี 2556 ที่ได้รับอนุมัติจาก กวทช. มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด 1,383.81 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 119.29 ของแผนรายได้ประจำปี 2556 (1,160 ล้านบาท)

ภาพรวมผลการดำเนินงานของ สวทช. ปีงบประมาณ 2556 พบว่า ผลการดำเนินงานส่วนใหญ่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ยกเว้น ผลการดำเนินงานด้านบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติของ สวทช. ต่อบุคลากรวิจัย 100 คน ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติของ สวทช. ปีงบประมาณ 2556 (401 ฉบับ) พบว่า สูงขึ้นกว่าผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2555 (384 ฉบับ) และพบว่าจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มี Impact Factor มากกว่าสอง มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2556 (บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มี Impact Factor มากกว่าสอง ในปีงบประมาณ 2554, 2555 และ 2556 มีจำนวน 200, 201 และ 219 ตามลำดับ) แสดงให้เห็นว่า สวทช. มุ่งเน้นการผลิตบทความตีพิมพ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารฉบับสมบูรณ์ – 18.1 MB

แชร์หน้านี้: